บ้านอาหารนายเชฟ

เรื่องเกี่ยวกับขนมอบ
อุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่

          เครื่องชั่ง   มีความสำคัญในการทำเบเกอรี่มาก มีผลต่อลักษณะของขนมมากพอสมควร เนื่องจากถ้ามีการชั่งหรือตวงผิด หรือใช้อุปกรณ์ผิดก็จะทำให้ขนมนั้นทำแล้วไม่ดี หรือทำออกมาแล้วไม่ได้ลักษณะที่ควรจะเป็น อุปกรณ์ที่จะใช้ในการชั่งหรือตวงมีหลายชนิด เช่น ช้อนตวงมี 4 ขนาดคือ 1 ช้อนโต๊ะ 1 ช้อนชา 1/2 ช้อนชา 1/4 ช้อนชา อาจทำจากโลหะหรือพลาสติคก็ได้ ใช้สำหรับตวงของเหลวหรือของแห้งก็ได้ ถ้าใช้ตวงของแห้งอย่าใช้ช้อนตวงตักอาหารโดยตรง เพราะจะทำให้ได้ปริมาตรที่มากเกินไป ต้องใช้วัสดุอื่นตักใส่ช้อน แล้วใช้มีดปาดให้เรียบอีกครั้ง ต่อไปที่จะพูดถึงก็คือถ้วยตวง จะแยกเฉพาะระหว่างตวงของแห้งกับของเหลว มีขนาดตั้งแต่ 1 ถ้วยตวง 1/2 ถ้วยตวง 1/3 ถ้วยตวง และ 1/4 ถ้วยตวง ถ้าเป็นถ้วยตวงของแห้งจะใช้ตวงส่วนผสมที่เป็นของแห้งเท่านั้นเช่น แป้ง น้ำตาล นมผง เนย ถ้าเป็นถ้วยตวงของเหลว ก็จะมีลักษณะเป็นแก้ว หรือพลาสติค แล้วจะมีขีเบอกปริมาตรอยู่ข้าง ๆ มีตั้งแต่ขนาด 1 ถ้วยตวง จนถึง 6 ถ้วยตวง ใช้ตวงของเหลวพวกนมสด น้ำ ไข่ขาว และของเหลวอื่น ๆ เวลาตวงก็ต้องให้ถ้วยอยู่ในระดับสายตาจึงค่อยอ่านค่าออกมา ถ้วยตวงและช้อนตวงที่กล่าวมาอาจใช้ในการตวงปริมาตรน้อย ๆ แต่ก็อาจเกิดการผิดพลาดในการตวงได้เช่น เวลาตวงแป้งอาจจะกดแป้งจนแน่นแล้วค่อยปาดให้เรียบร้อยเสมอขอบ ซึ่งก็จะทำให้ได้ปริมาตรที่ผิดไป ฉะนั้นถ้าต้องการได้สัดส่วนที่แน่นอนควรใช้ตาชั่ง ชั่งสิ่งของ ซึ่งตาชั่งนี้ก็มีหลายขนาดเช่นกัน ที่อยากจะแนะนำคือขนาด 1 กิโลกรัม เพราะจะสามารถชั่งของได้ตั้งแต่ 5 กรัมจนถึง 1 กิโลกรัม แต่ควรระวังอย่าใช้ชั่งของหนักเกิน 1 กิโลกรัม เพราะจะทำให้ตาชั่งเสียได้ ในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้น การชั่ง ตวง ที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะมีผลถึงผลผลิตที่ทำออกมาได้ ทั้งรส กลิ่น และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จึงไม่ควรที่จะให้กะเอาเอง

          เครื่องผสมแบบต่าง ๆ  เครื่องผสมมีประโยชน์ต่อการทำเบเกอรี่คือ ช่วยให้ส่วนผสมต่าง ๆ ทั้งของเปียกและของแห้งรวมกันได้ดีเป็นเนื้อเดียวกัน เช่นในการทำขนมปัง ช่วยให้โปรตีนกับน้ำรวมตัวกันจนเกิดเป็นกลูเตนที่มีลักษณะเหนียว ยืดหยุ่น สามารถจับปั้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ หรือในการทำเค้กช่วยทำให้เกิดการรวมตัวของน้ำและไขมัน และส่วนผสมอื่น ๆ ของเค้ก ทำให้ได้ลักษณะเป็นของเหลวข้น เทใส่ภาชนะได้แต่ไม่สามารถปั้นเป็นรูปร่างได้ สำหรับการทำเค้กนั้นเครื่องผสมช่วยให้เค้กเกิดการขึ้นฟู เนื่องจากฟองอากาศที่เกิดขึ้นในระหว่างการตีผสม
          เครื่องผสมที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ

          เครื่องผสมแบบแนวตั้ง  เป็นแบบที่นิยมใช้กันมากในการทำเบเกอรี่ เพราะสามารถใช้งานได้หลายอย่างตั้งแต่ตีไข่จนกระทั่งนวดแป้ง เครื่องผสมชนิดนี้จะมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนกระทั่งถึงขนาดใหญ่ แล้วแต่ปริมาตรที่ต้องการจะใช้ อุปกรณ์ในตัวเครื่องจะประกอบไปด้วย แกนกลางที่มีเดือยสำหรับใส่เครื่องช่วยในการผสม ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดคือ

          1. ชนิดที่เป็นตะขอ  ใช้สำหรับนวดผสมแป้งให้เป็นก้อนโตในการทำขนมปัง โดยตะขอนี้จะทำการม้วนพับ ดึงก้อนแป้งเพื่อให้เกิดเป็นกลูเต็นที่ดี

          2. ลักษณะเป็นรูปใบไม้  ใช้ตีเนยกับน้ำตาลให้ขึ้นฟู เพื่อทำเค้กที่ต้องตีเนยกับน้ำตาล หรือตีเนยกับแป้งอื่น ๆ เช่น พวกพายร่วนจ่าง ๆ หรือใช้ในการตีเนยกับน้ำตาลในการทำคุ้กกี้ การใช้หัวตีลักษณะนี้จะใช้ความเร็วของเครื่องระดับปานกลางเป็นส่วนใหญ่

          3. เป็นลักษณะตะกร้อ  ใช้สำหรับการตีไข่ให้เกิดฟองจะใช้กับความเร็วของเครื่องค่อนข้างสูง เพื่อให้ไข่ขึ้นฟูในระยะเวลาสั้น และไข่ก็อยู่ตัวด้วย ซึ่งมีผลต่อปริมาตรของเค้ก เค้กที่นิยมใช้ตะกร้อทำได้แก่ ชิฟฟอนเค้ก สปันจ์เค้ก หรือการตีเค้กแบบขั้นตอนเดียว

          เครื่องช่วยในการผสมทั้ง 3 ชนิดนี้จะถอดเปลี่ยนได้โดยใช้ตัวเครื่องผสมตัวเดียวกัน และสามารถปรับอัตราความเร็วของเครื่องได้ตามความต้องการของผลิตภัณฑ์ เราจะเลือกใช้อุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิดอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาดีเช่น ถ้านวดแป้งก็จะใช้ตะขอ ไม่ใช้ตะกร้อ และจะใช้ระดับความเร็วต่ำ ถ้าใช้ความเร็วมากเกินไปเครื่องจะไม่เดิน เนื่องจากส่วนผสมมีน้ำหนักมากและเครื่องอาจชำรุดได้

          เครื่องผสมแบบแนวนอน  เป็นเครื่องผสมที่ใช้นวดแป้งในการทำขนมปังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ตีไข่และเนยได้

          เครื่องผสมแบบ 2 แขน  ตัวเครื่องประกอบด้วยแขนเหล็ก 2 แขน ปลายงอ หมุนเข้าหากันและจะช่วยดึงยึดก้อนโด (DOUGH) อย่างช้า ๆ เมื่อเครื่องเดิน แขนทั้ง 2 จะหมุนมาสวนกันตรงกลางของอ่างผสม ดึงยึดและนวดก้อนโดที่อยู่ตรงกลางให้เข้ากัน อัตราเร็วของเครื่องแบบนี้มีอัตราเดียวและเป็นอัตราที่ช้ามาก ซึ่งจะทำให้สามารถนวดแป้งขนมปังได้ดีโดยที่ไม่ทำให้อุณหภูมิของโดร้อนเกินไปในระหว่างการผสม นอกจากขนมปังแล้วยังสามารถใช้ผสมแป้งพัฟเพสตรี้ และแป้งพายได้อีกด้วย เครื่องชนิดนี้จะใช้เวลาในการนวดแป้งน้อยกว่าการใช้เครื่องผสมแบบแนวตั้ง

          นอกจากอุปกรณ์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชนิดคือ

กลับขึ้นด้านบน

          ตู้หมักและพักก้อนโด  สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยีสต์เป็นตัวช่วยทำให้ขึ้นฟู เช่น ขนมปังชนิดต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้ยีสต์ จำเป็นจะต้องหมักเอาไว้ในห้องหมักหรือตู้หมักที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ เพื่อให้ยีสต์ทำงานได้ดีในระหว่างการหมักแป้งที่นวดผสมจนได้ที่แล้ว จะต้องพักแป้งไว้ให้คลายตัว แล้วจึงนำมาทำรูปร่าง หรือใส่ไส้ต่อจากนั้นจึงนำไปหมักหรือปล่อยให้ขึ้นจนมีขนาดเป็น 2 เท่า การหมักแป้งหรือพักให้แป้งขึ้น ต้องการความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อจะให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จออกมามีคุณภาพดี ตู้หมักแป้งนั้น ถ้าไม่มีความชื้นรวมอยู่ด้วยจะทำให้ขนมนั้นแห้ง เนื้อขนมกระด้างได้ เนื่องจากความชื้นที่มีอยู่ในก้อนแป้งระเหยออกไปในระหว่างการหมัก แต่เราอาจจะใช้การต้มน้ำส่งผ่านเข้าไปในตู้หรือห้องหมักนั้น และทำการควบคุมด้วยตนเอง ถ้าเป็นการทำเบเกอรี่ในห้องธรรมดาหรือในบ้านเราที่มีอากาศค่อนข้างร้อน อาจจะไม่ต้องอาศัยตู้หมักเลยก็ได้ โดยตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องแล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด หรือใช้แผ่นพลาสติคคลุมก้อนโดเอาไว้ เพื่อกันไม่ให้ผิวหน้าของโดนั้นแห้ง

กลับขึ้นด้านบน

          เครื่องตัดแป้งก้อนโต  เครื่องชนิดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในอุตสาหกรรมขนาดย่อมจนถึงขนาดใหญ่ ๆ เพื่อทุ่นเวลาและแรงงานในการแบ่งก้อนโดให้เท่า ๆ กัน เครื่องชนิดนี้จะแบ่งก้อนโดได้ตามน้ำหนักที่ต้องการแล้วคลึงให้กลม วิธีการใช้ก็ง่ายโดยคลึงก้อนโดที่ต้องการตัดให้เรียบเนียนเป็นก้อนใหญ่ จากนั้นตั้งทิ้งไว้พักหนึ่งแล้วใช้มือกดทำให้แนบลงบนแผ่นโลหะที่เป็นหลุม สอดแผ่นโลหะที่มีก้อนโดลงไปใต้ตัวเครื่องแล้วกดลง ก็จะได้ก้อนโดที่ถูกตัดเป็นก้อนกลมเรียบร้อย

กลับขึ้นด้านบน

          เครื่องรีดม้วนโด  มีหน้าที่ในการทำโดให้มีรูปร่างสม่ำเสมอ และปั้นให้เป็นรูปร่างตามต้องการ ขนมปังที่ผ่านเครื่องรีดเมื่ออบสุกแล้ว จะมีเนื้อเนียนเรียบสม่ำเสมอในพิมพ์ การรีดแป้งทำได้โดยนำก้อนโดที่พักตัวแล้วป้อนเข้าไปในระหว่างลูกกลิ้ง 2 ตัว ลูกกลิ้งจะรีดให้เป็นแผ่นบาง ๆ และจะม้วนแผ่นโดให้เป็นรูปหนอนหรือทรงกระบอกออกมา แล้วจับใส่พิมพ์โดยที่ไม่ต้องม้วนด้วยมือ ถ้าไม่มีเครื่องรีดม้วนโด อาจทำได้โดยใช้ไม้คลึง คลึงแป้งให้แบน มีขนาดและความยาวตามต้องการ จากนั้นทำการม้วนแล้วเย็บตะเข็บให้สนิท เอาใส่พิมพ์โดยให้ตะเข็บก้อนโดอยู่ข้างใต้

กลับขึ้นด้านบน

          ตู้อบ  ตู้อบที่ใช้ในเบเกอรี่มีหลายชนิด ทั้งใช้ไฟฟ้า ก็าซ และน้ำมัน ตู้อบโดยทั่ว ๆ ไปมีหลายแบบ เช่นแบบเป็นชั้น โดยบานตู้เปิดออกด้านหน้า และแบบเป็นชั้นหมุนรอบตัว สำหรับขนาดของตู้อบที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะทำ ตู้อบที่ดีจะต้องควบคุมอุณหภูมิได้ เพราะเบเกอรี่ส่วนใหญ่อุณหภูมิในการอบนั้น มีความสัมพันธ์กับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่จะได้ ให้มีลักษณะตามต้องการ ในกรณีที่ตู้อบไม่มีเครื่องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตามต้องการ ก็ควรจะมีเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้โดยเฉพาะสำหรับตู้อบวางไว้ในตู้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบอุณหภูมิที่แน่นอนของตู้อบก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าอบ ตู้อบเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เพราะขนมทุกอย่างจะต้องผ่านการอบให้สุก ราคาของตู้อบนั้นจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาทำเช่น เหล็ก สแตนเลส หรือใยแก้วที่บรรจุอยู่ภายใน เพื่อเก็บความร้อน ตู้อบที่ดีควรมีอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ เก็บความร้อนได้นาน ซึ่งจะทำให้ไม่เปลืองเชื้อเพลิง ถ้าตู้อบนั้นมีใยแก้วบุอยู่น้อยก็จะทำให้อุณหภูมิในตู้อบไม่คงที่ อุณหภูมิสามารถขึ้นหรือลงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อควรพิจารณาให้ถ้วนถี่เสียก่อน โดยอาจดูจากยี่ห้อ บริษัทผู้ผลิต หรือราคาก็จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของตู้อบได้เช่นกัน

          สำหรับตู้อบที่ใช้ภายในบ้านบางชนิดจะมีเข็มบอกความร้อนของตู้ 3 ระดับคือ ต่ำ ปานกลางและสูง ตู้อบประเภทนี้มักจะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ จะต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์แขวนไว้ในตู้ เพื่อช่วยบอกอุณหภูมิของตู้ก่อนที่จะนำขนมเข้าอบ อุณหภูมิของตู้อบจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ตั้งเอาไว้จึงนำขนมเข้าไปอบ

กลับขึ้นด้านบน

          เครื่องหั่นขนมปัง  เป็นเครื่องที่ประกอบด้วยลวดฟันเลื่อยหลายเส้น ซึ่งทำหน้าที่ตัดขนมปังให้เป็นแผ่นที่มีความหนาเท่า ๆ กัน ตามมาตรฐานความหนาของแผ่นคือ 1 เซนติเมตร เครื่องชนิดนี้สามารถปรับหันตามความกว้างยาวของแท่งขนมปังได้ เครื่องหั่นขนมปังนี้ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการทำขนมปังแซนวิชเท่านั้น เพราะการหั่นขนมปังด้วยมือนั้นเป็นการยากที่จะได้แผ่นขนมปังที่เรียบสม่ำเสมอ และมีความหนาที่เท่า ๆ กัน

          นอกจากอุปกรณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังมีอุปกรณ์เบเกอรี่อีกหลายชนิดที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเช่น พายยาง มีดขนาดต่าง ๆ สปาตูล่า แร็ค ฯลฯ เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ซึ่งจะไม่นำมาไว้ในหัวข้อนี้ แต่ท่านสามารถเข้าไปดูได้จากเรื่องของอุปกรณ์อาหารไทยนะครับ

กลับขึ้นด้านบน

ความรู้เรื่องขั้นตอนการทำ

          เราได้กล่าวถึงอุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่ว่ามีอะไรบ้าง และนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ชนิดใด นอกจากจะรู้จักและสามารถใช้อุปกรณ์แล้ว ยังมีเทคนิคในการทำเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพที่ควรจะเรียนรู้ดังต่อไปนี้

          ก่อนลงมือทำ ควรทำความเข้าในในสูตร ส่วนผสม และวิธีทำให้ละเอียดและถูกต้องทุกขั้นตอน จากนั้นเริ่มจากขั้นตอนแรกในการทำคือ

          การชั่งตวง  ในการชั่งส่วนผสมทุกชนิด ควรใช้เครื่องชั่งที่มีความเทียงตรงอยู่ในสภาพที่ดี ถ้าชั่งในปริมาณที่น้อยควรใช้เครื่องชั่งที่มีตัวเลขละเอียด เหมาะสำหรับการชั่งส่วนผสมที่มีน้ำหนักเบา และใช้ในปริมาณเล็กน้อยเช่น ผงฟู โซดา เครื่องชั่งจะต้องสะอาดและอยู่ในสภาพที่ดี เพราะจะมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำไม่ดีตามไปด้วย การชั่งปริมาณของส่วนผสมที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้

          การผสม  ควรใช้วิธีการผสมตามสูตรที่กำหนดให้และที่สำคัญคือ การใช้เวลาในขั้นตอนของการผสม แต่ละขั้นตอนควรใช้เวลาให้เหมาะสม เพื่อจะให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาตรดี มีเนื้อสัมผัสดี อ่อนนุ่ม ไม่ควรใช้เวลาในการผสมนานเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียได้ อุณหภูมิของส่วนผสมและการผสมก็มีความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่อบออกมาได้เช่นกัน ในขั้นตอนนี้จะเห็นได้ชัดคือการทำเค้ก เพราะในระหว่างของการผสมแป้ง ถ้าใช้เวลาในการผสมนานเกินไปก็จะทำให้เค้กที่อบออกมาเนื้อแน่นและหนัก ฉะนั้นในการผสมแป้ง เราอาจจะใช้เครื่องผสมก็ได้ ยกเว้นการทำชิฟฟอนเค้ก

          การเตรียมพิมพ์  พิมพ์ที่ใช้ในการทำขนมอบนั้นจะต้องสะอาดและแห้ง ไม่มีรูรั่ว พิมพ์ที่สกปรกจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่อบได้มีกลิ่นไม่ดี และอาจทำให้เกิดราได้ พิมพ์ที่โป่งหรือเป็นรูจะทำให้ผลิตภัณฑ์อบสุกไม่สม่ำเสมอ และเอาออกจากพิมพ์ยากพิมพ์ที่ใช้ควรมีขนาดที่สูตรกำหนดให้ และจะต้องเตรียมให้พร้อมตามสูตรที่บอกเอาไว้เช่น ต้องทาพิมพ์ด้วยไขมันหรือไม่ ในกรณีที่ต้องทาพิมพ์ด้วยไขมันควรใช้ไขมันที่ใหม่และไม่มีกลิ่นหืน นอกจากนี้เราอาจรองก้นพิมพ์ด้วยกระดาษไข เพื่อให้ขนมหลุดออกจากพิมพ์ได้ง่ายขึ้น

          การอบ  ผลิตภัณฑ์ที่ทำจะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่อบให้ถูกวิธี การจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีนั้น จะต้องตั้งอุณหภูมิของตู้อบให้ได้ตามที่ตั้งไว้สำหรับอบผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ควรนำผลิตภัณฑ์เข้าอบและเอาออกจากเตาอบในเวลาที่เหมาะสม โดยปกติแล้วขนมที่อบนานเกินไปหรืออบไม่เพียงพอนั้นเกิดจากไม่ระมัดระวัง หรือเกิดจากการขาดความรู้ของผู้อบ ทางที่ดีควรจะปฏิบัติตามสูตรที่บอกเอาไว้ เมื่ออบสุกแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็นและเอาขนมที่สุกก่อนออกจากเตาอบ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดตู้อบดูแต่ไม่ควรเปิดเตาอบบ่อย ๆ เพราะจะทำให้สูญเสียความร้อน และอาจทำให้เค้กยุบตัวได้

          การแต่งหน้าขนม  การแต่งหน้าขนมเช่น แยมโรล เค้ก หรือเดนิสเพสตรี้ ควรจะทำเมื่อขนมเย็นแล้ว และเห็บในภาชนะที่มีฝาปิด หรือถ้าให้ดีก็เก็บในตู้เย็น สำหรับหน้าขนมที่มีลักษณะไม่ดีต้องทิ้งทันที อย่านำมาใช้แต่งหน้าขนมเพราะจะทำให้ขนมเสียได้

          การบรรจุหีบห่อ  การวางขนมขายในปัจจุบัน นิยมที่จะห่อด้วยวัสดุต่าง ๆ และออกแบบต่าง ๆ กันตามความเหมาะสม การห่อขนมก่อนที่จะใส่ถุงขายนั้นเป็นที่นิยมมาก เนื่องจาก


          1. ทำให้ขนมนั้นเก็บได้นานโดยที่ยังสดอยู่
          2. ถูกสุขลักษณะ
          3. สะดวกต่อการจับถือและการเก็บ
          4. ผู้ซื้อสามารถแลเห็นลักษณะของผลิตภัณฑ์
          5. ใช้เนื้อที่ในการเก็บ การขนส่ง และการวางโชว์น้อย นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาทำภาชนะห่อผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ จะต้องพิจารณาถึงว่าวัสดุที่ใช้นั้น

                    - จะเก็บความสด และความนุ่มหรือความกรอบ หรือจะทำให้สูญเสียความชื้นหรือการซึมหรือไม่
                    - ราคาไม่สูงซึ่งจะทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น
                    - วัสดุที่ใช้ต้องมีความมัน บางใส มองเห็นได้ชัด
                    - โค้งและพับได้ง่าย
                    - มีความลื่นตัวและผนึกได้โดยใช้ความร้อน

กลับขึ้นด้านบน

การเก็บรักษาวัตถุดิบ

          เราได้กล่าวถึงเทคนิคในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ตั้งแต่การชั่งตวง การผสม การเตรียมพิมพ์ การอบ และอื่น ๆ เพื่อที่จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สามารถเก็บได้นานขึ้น และช่วยลดต้นทุนในการผลิตลง นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การเก็บรักษาวัตถุดิบก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การเก็บรักษาที่ถูกต้องจะช่วยประหยัดเงิน และช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงด้วย โดยเริ่มจาก

                    1. เก็บอาหารชื้น ในที่ชื้น
                    2. เก็บอาหารแห้ง ในที่แห้ง
                    3. เก็บอาหารที่เสียง่ายในตู้เย็น
          อาหารที่เสียง่าย ส่วนมากต้องการเก็บในตู้เย็น และเพื่อที่จะเก็บวัสดุในตู้เย็นให้มีความชื้น และป้องกันการสูญเสียรส กลิ่น ให้ห่อด้วยพลาสติค หรือใส่ภาชนะปิดฝาให้มิดชิด

          ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำและราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการเก็บรักษาวัสดุหรือส่วนผสมที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องควรปฏิบัติต่อไปนี้

          1. แป้งชนิดต่าง ๆ  เช่นแป้งเค้ก แป้งขนมปัง ฯลฯ ถ้าปลอดจากแมลงรบกวนจะมีคุณภาพดีและเก็บได้นานถึง 5 เดือน โดยเก็บในห้องที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทดี ปราศจากกลิ่น มีอุณหภูมิ 68 - 72 องศสฟาเรนไฮต์ และมีความชื้นสัมพัทธ์ 55 - 65 % แป้งที่มีตัวแมลงอยู่จะต้องแยกนำออกมาทิ้งทันที

          2.ยีสต์  เป็นส่วนผสมที่เสียได้ง่าย ควรเก็บในที่แห้ง ไม่ให้สัมผัสโดยตรงกับแสงแดดและความชื้น ถ้าไม่เก็บในตู้เย็นควรเก็บในที่มีอุณหภูมิไม่สูงกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์ ภายใต้สภาพเช่นนี้ ยีสต์แห้งจะมีอายุการเก็บได้อย่างน้อยที่สุด 1 เดือน หรือนานกว่านี้ได้

          3. น้ำตาล  ทั้งน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงเป็นตัวดูดความชื้น จะต้องนำออกจากถุงใส่กล่องพลาสติคหรือแก้ว มิฉะนั้นแล้วน้ำตาลจะดูดความชื้นจากอากาศจนถึงจุดที่มันแฉะ ซึ่งพวกจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้น้ำตาลนั้นมีรสเปรี้ยว สำหรับน้ำตาลละเอียดหรือน้ำตาลไอซิ่ง เมื่อไม่ใช้จะต้องเก็บไว้ในที่แห้ง เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน อย่าใช้ภาชนะที่เป็นโลหะเพราะอาจจะเกิดสนิมได้

          4. ไขมัน และน้ำมัน  ไขมันจากพืชสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องนาน 2-3 เดือน ถ้าต้องการเก็บให้ได้นานกว่านี้ต้องเก็บในตู้เย็น น้ำมันหมูชนิดแข็งควรเก็บในตู้เย็น โดยใส่ภาชนะบรรจุปิดฝาให้สนิท หรือเก็บในห้องธรรมดาก็ได้ น้ำมันสลัดหรือน้ำมันมะกอกจะมีกลิ่นหืนได้ง่ายหลังจากเปิดฝาแล้ว สำหรับไขมันพืช นอกจากจะเก็บในตู้เย็นแล้ว ไม่ควรเก็บไว้ใกล้สิ่งที่ให้กลิ่น เพราะไขมันนั้นสามารถดูดกลิ่นแปลกปลอมเข้าไว้ได้ง่ายและรวดเร็ว ศัตรูตัวสำคัญของไขมันก็คือแสง อากาศ น้ำ ความร้อน อุณหภูมิสูง ๆ และโลหะ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันมีกลิ่นหืนได้ง่าย

          5. ไข่  ไข่สดควรเก็บในช่องเก็บไข่ของตู้เย็น โดยให้ส่วนกว้างของไข่อยู่ด้านบนจะเก็บได้นานถึง 5 สัปดาห์ ไข่สดจะสูญเสียความชื้นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามอายุของไข่ ไข่มักจะดูดเอากลิ่นจากตู้เย็นเอาไว้ และจะมีกลิ่นมากถ้าไม่เก็บไว้ในช่อง ไข่ขาวที่แยกออกจะเก็บได้นานเป็นสัปดาห์ ถ้าเก็บในตู้เย็นและใส่ภาชนะแก้วที่ปิดฝาสนิท ไม่ควรเก็บไข่ไว้นาน แม้จะเก็บในตู้เย็นก็ตาม เพราะบัคเตรีอาจเกิดขึ้นทำให้อาหารเป็นพิษได้

          6. นม  นมสดหรือหางนมควรเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อไม่ใช้แล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบูดเนื่องจากกรดแลคติกจะทำให้นมเปรี้ยว สำหรับนมระเหยนั้นไม่เป็นปัญหาเพราะนมบรรจุกระป๋องนั้น ได้ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อแล้ว แต่ก็ควรระวังในเรื่องกระป๋องบวม ซึ่งเกิดจากนมเสีย นมผงควรเก็บในที่เย็นและแห้ง ปิดฝาให้สนิท เนื่องจากนมผงนั้นมีความชื้นอยู่น้อย จึงดูดเอาความชื้นจากอากาศเข้าไว้ทำให้จับตัวกันเป็นก้อน

          7. เครื่องเทศและผงฟู  ควรเก็บในที่เย็น แห้ง และปิดฝาให้สนิท สำหรับกระป๋องบรรจุจะต้องไม่เป็นสนิม และจะต้องสะอาด

กลับขึ้นด้านบน

ข้อพึงปฏิบัติในการทำเบเกอรี่

          การเตรียมพร้อมก่อนที่จะลงมือทำเบเกอรี่ เพื่อจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จออกมาแล้วมีคุณภาพดีทุกชิ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตที่จะต้องสูญเสียไปกับของที่ทำออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐานหรือมีคุณภาพไม่เพียงพอ โดยเริ่มจาก

          1. ก่อนลงมือทำควรทำความเข้าใจในสูตรส่วนผสมและวิธีทำให้ละเอียดถูกต้องทุกขั้นตอน
          2. ส่วนผสมต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ ควรวางให้อยู่ใกล้มือ พร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที
          3. ควรใช้ถ้วยตวง และช้อนตวงที่ได้มาตรฐาน
          4. ก่อนทำ ควรร่อนแป้งก่อนหนึ่งครั้ง เพื่อเอ่สิ่งสกปรกที่อยู่ในแป้งออก ใช้ช้อนตักใส่ถ้วยแล้วใช้มีดปาดส่วนที่เกินออกไปให้ได้ระดับของถ้วย อย่าเขย่าถ้วยเพราะจะทำให้สัดส่วนของส่วนผสมผิดไปได้
          5. การตวงน้ำตาลทรายควรตวงเช่นเดียวกับการตวงแป้ง แต่สำหรับน้ำตาลทรายแคงต้องตวงโดยกดน้ำตาลลงในถ้วยให้แน่น เทออกมาเป็นรูปถ้วย การตวงเนยก็เช่นเดียวกันกับน้ำตาลทรายแดง
          6. การตวงส่วนผสมที่เป็นของเหลวควรใช้ถ้วยตวงที่ใช้ตวงโดยเฉพาะ อาจเป็นแก้วหรือพลาสติคก็ได้ ที่ถ้วยตวงจะมีขีดบอกปริมาตรและไม่ใช้ถ้วยตวงของแห้งมาใช้ควงของเหลว
          7. ในการทำเค้กควรใช้แป้งเค้กโดยเฉพาะ เพราะแป้งเค้กจะทำให้เค้กอ่อนนุ่มและมีเนื้อที่ละเอียด ถ้าใช้แป้งผสมระหว่างแป้งเค้กและแป้งขนมปังจะต้องลดแป้งลง 2 ช้อนโต๊ะต่อ 1 ถ้วยตวง และจะต้องไม่ผสมนานเกินไป ในระหว่างการผสมแป้ง เมื่อเติมแป้งลงไปแล้วควรผสมให้เข้ากันดีเสียก่อนจึงจะใส่นม เพราะแป้งจะดูดน้ำจากนมทำให้แป้งเป็นเม็ด
          8. ผงฟูที่ใช้ควรปิดฝาให้แน่นเมื่อใช้เสร็จแล้ว และเก็บไว้ในที่แห้งและเย็นทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดความชื้น เพราะจะทำให้ผงฟูเสื่อมคุณภาพลง
          9. ในกรณีที่สูตรต้องการแยกไข่ขาวกับไข่แดง ควรแช่ไว้ในตู้เย็นก่อนที่จะนำไปแยก จะช่วยให้การแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงง่ายขึ้น และต้องระวังอย่าให้ไข่แดงตกลงไปในไข่ขาวที่แยก แม้จะมีไข่แดงปนอยู่เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ไข่ขาวนั้นตีไม่ขึ้นฟู และในการตีไข่ขาวให้ขึ้นฟูเป็นฟองหนาละเอียด ควรเติมน้ำตาลทรายและครีมออฟท่ร์ทาร์ลงไปในขณะที่ตีไข่ขาว จะทำให้ไข่ขาวมีความคงตัวมากยิ่งขึ้น
          10. การตีไข่ขาวจะต้องตีด้วยความเร็วสูง เพื่อให้ไข่ขาวขึ้นได้ดีที่สุดและควรผสมส่วนผสมของแป้งลงไปคนช้า ๆ เพื่อให้ผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันโดยที่ไข่ขาวไม่สูญเสียอากาศ ผสมส่วนผสมให้เข้ากันดี ถ้าผสมไม่ทั่วจะทำให้มีส่วนผสมบางส่วนตกอยู่ที่ก้นภาชนะ ทำให้ขนมที่อบได้มีลักษณะเละและหนัก
          11. การตีไข่ขาวควรตีในภาชนะที่เป็นแก้วหรือภาชนะที่เป็นเหล็กปลอดสนิมเท่านั้น ไข่ขาวจะตีขึ้นไม่ดีเท่าที่ควรถ้าตีในภาชนะที่เป็นพลาสติค
          12. การทำบัตเตอร์เค้ก ควรตีเนยกับน้ำตาลพอขึ้นฟูเพียงเล็กน้อย จึงใส่ไข่แล้วตีต่อให้น้ำตาลละลาย แล้วให้ไข่เป็นตัวเก็บฟองอากาศต่อจะได้เค้กที่มีเนื้อฟูละเอียดกว่าการเก็บอากาศโดยการตีเนยกับน้ำตาลเท่านั้น

          เมื่อได้ทราบข้อปฏิบัติในการทำเบเกอรี่มาแล้ว คงจะทำให้เข้าใจและทำเบเกอรี่ได้ง่ายขึ้น แต่ยังครับ ยังไม่จบ ต่อไปจะพูดถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีอีกมากมายที่ควรทราบและปฏิบัติตาม โดยไปอ่านต่อได้ที่นี่นะครับ

กลับขึ้นด้านบน