อุปกรณ์ขนมไทย
พิมพ์ทองม้วน

พิมพ์ทองม้วน           ลักษณะของพิมพ์เป็นแผ่นเหล็กกลมหรือสี่เหลี่ยม ประกบติดกันเป็นคู่มีด้ามยาวสำหรับถือเวลาผิงไฟ ด้านในของพิมพ์จะมีลวดลายต่าง ๆ กัน
          วิธีการใช้ ควรปิ้งหรือผิงพิมพ์ให้ร้อนเสียก่อน ทาด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมัน โดยใช้ลูกประคบซึ่งทำจากผ้าสะอาดห่อกากมะพร้าว ชุบน้ำมันเช็ดทาพิมพ์ เมื่อพิมพ์ร้อนจัดตักแป้ง 1 ช้อน ใส่ลงตรงกลางพิมพ์ แผ่นที่ประกบด้านล่าง กดพิมพ์ประกบกันให้สนิท แป้งที่ใส่จะไหลเป็นแผ่นบางไปทั่วพิมพ์ ปิ้งไฟทันทีจนกระทั่งสุกเหลืองดี ใช้มีดปลายแหลมแซะออกม้วนหรือพับ ถ้าม้วนก็เรียกว่าทองม้วน ถ้าพับก็เรียกว่าทองพับ ส่วนเกล็ดกระโห้ก็เป็นลักษณะเดียวกัน แต่วิธีการทำและการเลือกพิมพ์จะแตกต่างกัน เกล็ดกระโห้จะใช้พิมพ์ไม่มีลาย แผ่นจะเล็กกว่า เพื่อให้เหมือนลักษณะเกล็ดปลาจริงๆ
พิมพ์ขนมไข่

พิมพ์ขนมไข่           ลักษณะของพิมพ์ พิมพ์ขนมไข่ส่วนใหญ่จะทำด้วยทองเหลือง ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับหยอดแป้งประมาณ 12 ช่องต่อ 1 พิมพ์ แต่ละช่องอาจจะประกอบด้วย รูปดอกไม้ กลม รี หรือรูปเหลี่ยม พิมพ์ขนมไข่จะมีฝา ซึ่งทำด้วยทองเหลืองหนา สำหรับใส่ถ่านซึ่งจะให้ความร้อนด้านบนของขนม มีห่วงที่ฝา ซึ่งจะใช้เหล็กงอยกฝาขึ้น เวลาที่จะหยอดขนมหรือแซะขนมออกจากพิมพ์
พิมพ์ดอกจอก

พิมพ์ดอกจอก          ลักษณะของพิมพ์ เป็นทองเหลืองทำเป็นรูปดอกไม้โปร่ง มีเหล็กยาวสำหรับถือติดกับตัวพิมพ์
          วิธีการใช้ ดอกจอกเป็นขนมที่ต้องทอดในน้ำมันมากๆก่อนใช้ แช่พิมพ์ในน้ำมันร้อนจัด เพื่อให้พิมพ์ร้อนเสียก่อน เมื่อพิมพ์ร้อนแล้วจุ่มพิมพ์ลงในแป้งที่ผสมไว้ เพื่อให้แป้งเกาะพิมพ์เป็นรูปทรงก่อน จึงนำลงทอดในน้ำมันร้อนปานกลาง พอสุก ค่อยๆใช้ปลายมีดแซะขนมออกจากพิมพ์ ขนมจะหลุดง่าย ตักขนมขึ้นจากน้ำมันวางบนก้นถ้วยขนาดเล็กเท่ากับถ้วยข้าวต้มที่คว่ำไว้ กลีบขนมจะบานออกเป็นรูปดอกไม้ เมื่อเย็นจึงเก็บบรรจุถุงหรือขวดโหลไว้เพื่อให้กรอบนาน ส่วนพิมพ์ล้างให้สะอาดก่อนเก็บ ทาด้วยน้ำมันอีกครั้ง แล้วจึงแขวนไว้ในที่ลมโกรก
พิมพ์รูปเรือ

พิมพ์รูปเรือ           ลักษณะของพิมพ์ หัวและท้ายจะเรียวแหลม คล้ายรูปเรือ ใช้ทำขนมไทย เช่น ขนมหน้านวล ขนมผิง วุ้นต่างๆ ส่วนเบเกอรี่ใช้ทำพวกพาย เช่น พายสับปะรด
          วิธีการใช้ ถ้าเป็นขนมหน้านวลหรือขนมผิง ทาด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมูด้านในพิมพ์บางๆ ก่อนจะใส่ส่วนผสมของแป้งและนำไปอบ ขนมจะไม่ติดพิมพ์ เวลาสุกขนมจะร่อนออกจากพิมพ์ได้ดี เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ซ้อนกันไว้ เก็บใส่กล่องเก็บไว้ในที่ไม่มีมด หนู หรือแมลงสาป
พิมพ์ลอดช่อง

พิมพ์ลอดช่อง           ลักษณะของพิมพ์ จะประกอบด้วยส่วนกระป๋องมีหู 2 หูและมีที่กดแป้ง รู้ที่ก้นพิมพ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตัวกระป๋องอาจเป็นทองเหลือง อลูมิเนียมและสแตนเลสก็ได้ ส่วนใหญ่นิยมทองเหลือง เพราะไม่ทำให้แป้งลอดช่องดำเวลาทำ สมัยก่อนนิยมใช้กะลามะพร้าวขัดเจาะรูที่ก้น และมีขายาวพาดที่ถัง เวลาใช้ตักแป้งใส่และใช้ทัพพีกด
          วิธีการใช้ ใช้ไม้ยาวขนาดพอที่พาดของถังหรือหม้อได้ 2 อัน สอดเข้าที่หูของพิมพ์วางพาดบนหม้อที่ใส่น้ำเย็นไว้จนเกือบเต็ม ตักแป้งที่กวนไว้ ใส่พิมพ์ประมาณค่อนพิมพ์ ใช้ที่กด กดแป้ง ตัวลอดช่องจะออกมาตามรูที่ก้นของพิมพ์ การกดต้องเว้นจังหวะให้พอเหมาะ มิฉะนั้นตัวลอดช่องจะยาวหรือสั้นเกินไปทำให้ไม่น่าดู
พิมพ์ซ่าหริ่ม

          ลักษณะของพิมพ์ เหมือนกับพิมพ์ลอดช่องทุกอย่าง แต่รูที่เจาะไว้เล็กกว่า เพื่อให้เส้นซ่าหริ่มที่ออกมาสวยงาม
          วิธีการใช้ เหมือนกับพิมพ์ลอดช่อง แต่การกดซ่าหริ่มต้องกดยาวให้หมดทีเดียว ถ้ากดไม่สม่ำเสมอเส้นซ่าหริ่มที่ออกมาอาจเป็นก้อนแป้ง หรือเส้นขาดฝอยเกินไป
พิมพ์ไม้

พิมพ์ไม้           ลักษณะของพิมพ์ เป็นแท่งไม้ กว้าง ยาว ประมาณ 2x6 นิ้ว หนา 1นิ้วครึ่ง ขุดลงไปในเนื้อไม้ เป็นรูปลายต่างๆ เช่น นก ดอกไม้ ผลไม้ พิมพ์ชนิดนี้ เหมาะสำหรับใช้ทำขนมทองเอก สำปันนี ถ้าพิมพ์ลายละเอียดเกิน ขนมออกมาจะไม่สวย เพราะจะเห็นลายไม่ชัดเจน ถ้าลายหยาบแต่ลึก ขนมที่ออกมาจะมีลายคมชัดสวยงามกว่า และทำความสะอาดง่ายด้วย
          วิธีการใช้ ใส่เนื้อขนมลงในช่องที่เป็นลวดลาย กดให้แน่น แกะออก ถ้าติดพิมพ์หรือขนมค่อยข้างแฉะ ใช้แป้งมันโรยที่พิมพ์ การโรยแป้งไม่ต้องโรยมาก ถ้าโรยแป้งหนาไป ขนมออกมาจะไม่สวย เมื่อโรยแป้งเคาะแป้งออกให้เหลือแค่ติดพิมพ์ จากนั้นกดเนื้อขนมลงไปและเคาะออก ขนมจะเป็นลวดลายตามต้องการ
พิมพ์อลูมิเนียมรูปต่างๆ

พิมพ์อลูมิเนียมรูปต่าง ๆ           ลักษณะของพิมพ์ จะเป็นอลูมิเนียมรูปร่างต่างๆ เช่นถ้วยกลมจีบ ถ้วยสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปกระต่าย รูปปลา พิมพ์ชนิดนี้ถ้าจีบถี่ๆจะทำความสะอาดยาก เวลาใช้เสร็จควรแช่น้ำให้สิ่งสกปรกที่ติดหลุดออกจึงล้าง เหมาะที่จะใช้เป็นพิมพ์วุ้นต่างๆ ขนมชั้น ขนมปุยฝ้าย เพาะทนความร้อนได้ดี
          วิธีการใช้ ถ้าใช้ทำวุ้นเรียงพิมพ์ลงในถาดหยอดวุ้นลงไปแล้วหล่อน้ำในถาด ถ้าทำขนมชั้นนึ่งพิมพ์ให้ร้อนก่อนจึงหยอดแป้ง ถ้าทำปุยฝ้ายวางถ้วยลงในลังถึง กะระยะห่างพอให้ไอน้ำขึ้นได้ ใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยจีบหยอดแป้ง แล้วนำไปนึ่งในน้ำเดือดปุดๆ หรี่ไฟลง
พิมพ์ครองแครง หรือร่องกดครองแครง

พิมพ์ครองแครง           ลักษณะของพิมพ์ เป็นไม้หรือพลาสติกมีร่องถี่ๆ เป็นแนวยาวมีด้ามถือ ถ้าร่องห่างหรือใหญ่ไป ขนมจะไม่สวย ควรเลือกร่องถี่พอสมควรและร่องลึก
          วิธีการใช้ โรยนวลแป้ง บนตัวพิมพ์แล้วเคาะออกอย่าให้หนามาก ปั้นแป้งเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ใช้หัวแม่มือกดแป้งออกนอกตัวแป้งก็จะม้วนเป็นตัวหอย มีรอยหยักลึกตามพิมพ์
พิมพ์ขนมเรไร หรือขนมรังไร

พิมพ์ขนมเรไร           ลักษณะของพิมพ์ ประกอบด้วยไม้ 2 ชิ้นประกบติดกัน มีบานพับติดสำหรับยกขึ้นใส่แป้ง ข้างหนึ่งจะเจาะเป็นช่องกลม มีสังกะสีเจาะรูบุอีกที อีกข้างหนึ่งจะมีไม้กลมยื่นออกมาขนาดเล็กกว่าช่องกลมอีกข้างหนึ่งนิดหน่อย
          วิธีการใช้ หงายพิมพ์ด้านที่มีสังกะสีเจาะรูขึ้น ใส่แป้งที่ปั้นเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ลงบนด้านที่มีไม้ยื่นออกมา กดทับพิมพ์ลงเหมือนบีบกล้วยปิ้ง แป้งขนมก็เป็นเส้นหยิกออกมาทางรูสังกะสี ใช้สปาตูล่าแซะไปใส่ในลังถึงนึ่งอีกที
พิมพ์ขนมปลากริม

พิมพ์ขนมปลากริม           ลักษณะของพิมพ์ เป็นแผ่นทองเหลืองหรือแผ่นสังกะสี เจาะรูตรึงทั้ง 4 ด้านกับไม้
          วิธีการใช้ พาดตะแกรงบนหม้อน้ำเดือด ใช้แป้งดิบกดลงบนตะแกรง แป้งจะเป็นเส้นตกลงไปในหม้อ พอสุกแป้งจะลอย ตักขึ้นแช่น้ำเย็น วิธีนี้อาจใช้กับการทำลอดช่องสิงคโปร์ก็ได้
กรวยหยอดฝอยทอง

กรวยหยอดฝอยทอง           ลักษณะของพิมพ์ เป็นรูปกรวยมีด้ามถือที่ปลายกรวย เจาะรูเดียวหรือ 2 รู วัสดุที่ใช้ทำจะเป็นทองเหลืองหรือสแตนเลนก็ได้
          วิธีการใช้ ใส่ไข่แดงที่ตีให้เข้ากันลงในกรวย ถือกรวยให้อยู่เหนือกระทะน้ำเชื่อมพอประมาณ โรยฝอยทองให้เป็นวงกลมโดยน้บรอบให้เท่ากัน เพื่อให้ฝอยทองมีขนาดแพที่เท่ากัน
กรวยหยอดไข่แมงดาเทียม

กรวยหยอดไข่แมงดาเทียม           ลักษณะของพิมพ์ คล้ายกับกรวยหยอดฝอยทอง เป็นรูปกรวย มีรูปลายกรวย 1 หรือ 2 รู แต่ละรูจะใหญ่กว่ากรวยหยอดฝอยทอง วัสดุที่ใช้ทำอาจเป็น ทองเหลือง หรือสแตนเลสก็ได้ ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างใช้ใบตองม้วนเป็นกรวยก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
          วิธีการใช้ ใช้ไข่แดงใส่กรวย ถือกรวยอยู่เหนือกระทะน้ำเชื่อม ใช้วิธีการหยอด ไม่ใช้วิธีการโรยเหมือนทองหยอด ลักษณะของขนมที่ออกมาจะเป็นเม็ดกลมๆ สีเหลืองใสเหมือนไข่แมงดา
พิมพ์วุ้น

พิมพ์วุ้นแบบต่าง ๆ           ลักษณะของพิมพ์ จะเป็นอลูมิเนียม เหล็ก หรือทองเหลืองเป็นเส้นคมขดหรือตัดเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ นก สัตว์ต่างๆ ใช้สำหรับกดลงไปบนขนมหรือของที่ไม่แข็งมาก เป็นการตกแต่งให้สวยงาม ที่ใช้กันมากได้แก่ กดลงไปบนวุ้นกะทิ หรือวุ้นหวานต่างๆ ถ้ากดลงบนผักหรือผลไม้ แล้วนำไปประกอบอาหารก็ได้เช่นกัน
ถ้วยตวงของเหลว

ถ้วยตวงและช้อนตวง           ลักษณะ เป็นแก้วทนไฟ หรือพลาสติกใส มีขีดบอกระดับของเหลวที่จะตวง 1 ถ้วยตวง = 240 ซีซี การเลือกใช้ควรซื้อชนิดที่เป็นแก้วทนไฟ เพราะจะทนทานมีอายุการใช้งานนานกว่า ถ้าตวงของที่เป็นของร้อน เช่น น้ำร้อน น้ำมัน ถ้าใช้พลาสติกใสธรรมดาหรือแก้วธรรมดา จะแตกถ้าถูกความร้อนมากๆ
          วิธีการใช้ วางถ้วยตวงลงบนพื้นเรียบ สายตาอยู่ที่ขีดบอกระดับที่เราต้องการตวง เทของเหลวลงในแก้วให้ตรงกับขีดที่เราต้องการ
ถ้วยตวงของแห้ง

ถ้วยตวงและช้อนตวง           วัสดุที่ใช้ทำถ้วยตวงของแห้ง มีหลายชนิด มีสแตนเลส อลูมิเนียม และพลาสติก ถ้วยตวงของแห้งมี 4 ขนาด คือขนาด 1 ถ้วยตวง ขนาดครึ่งถ้วยตวง ขนาด หนึ่งส่วนสามถ้วยตวง และขนาดหนึ่งส่วนสี่ถ้วยตวง
          วิธีการใช้ ใช้ตวงของแห้งต่างๆ เช่น แป้ง น้ำตาล มันต้มบดละเอียด เนื้อหมู กะปิ
          ถ้าตวงแป้งหรือน้ำตาล ใช้ช้อนตักแป้งใส่ลงในถ้วยตวง ใช้สันมีดตรงๆ หรือสปาตูล่าปาดให้เรียบ ห้ามใช้ถ้วยตวงตักลงในของที่ต้องการตวงนั้น
          การตวงเนื้อสัตว์บดหรือเผือก มัน ใช้ช้อนตักใส่ถ้วยกดให้แน่นพอประมาณ พอเทออกมาแล้วเป็นรูปถ้วย
ช้อนตวง

          ช้อนตวง มีชนิดที่ทำด้วยสแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก
มี 4 ขนาดคือ 1 ช้อนโต๊ะ 1 ช้อนชา ครึ่งช้อนชา และหนึ่งส่วนสี่ช้อนชา
          วิธีการใช้ ถ้าเป็นการตวงของแห้ง ให้ใช้ช้อนตักใส่ช้อนตวงแล้วปาดให้เรียบ ถ้าเป็นของเหลว เช่น น้ำปลาให้ใช้น้ำปลาใส่ถ้วย แล้วใช้ช้อนตวงตัก
ผ้าขาวบาง

ผ้าขาวบาง           ลักษณะ บาง โปร่งเหมือนกับผ้ามุ้ง มีสีขาวดูสะอาดมากกว่าสีอื่นๆ ซักสิ่งสกปรกออกได้ง่าย แห้งเร็ว
          วิธีการใช้ ใช้กรองสิ่งสกปรกออกจากอาหาร ทบผ้าขาวบางสัก 2 ชั้น วางบนกระชอนเทน้ำเชื่อมลง เศษผงต่างๆก็จะติดอยู่บนผ้าขาวบาง วิธีนี้ใช้กรองกะทิที่มีเศษมะพร้าวดำๆ ได้ด้วย การนึ่งอาหาร ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำปูนบนลังถึงใช้แทนใบตองก็ได้ ผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆ คลุมผักไว้ทำให้ผักสดเก็บไว้ได้โดยไม่เหี่ยว
ลังถึง

ลังถึง           ลักษณะ เป็นหม้อนึ่งด้านล่างก้นเรียบ ใส่น้ำเพื่อให้เกิดไอ ด้านบนก้นเจาะรูขนาดใหญ่เพื่อให้ไอน้ำขึ้นไปทำให้อาหารสุก มี 2 ชั้น ฝา ทรงสูง ส่วนใหญ่ทำด้วยอลูมิเนียม เพราะน้ำหนักเบา ทำความสะอาดได้ง่าย ทนทาน มีบ้างที่ทำด้วยสังกะสี แต่อายุการใช้งานจะสั้นกว่า
          วิธีการใช้ ใส่น้ำที่ก้นลังถึงประมาณ หนึ่งส่วนสอง หรือ สามส่วนสี่ของลังถึง วางอาหารหรือขนมที่จะนึ่ง วางเรียงกัน กะระยะให้ห่างกันพอสมควร เพื่อให้มีช่องให้ไอน้ำขึ้นมา ทำให้อาหารสุก เช็ดฝาให้สะอาด ปิดฝา เมื่ออาหารสุกเวลาเปิดฝา ให้เปิดฝาลังถึงออกนอกตัว เพราะไอน้ำจะพุ่งใส่หน้าทำให้เกิดอันตราย และระวังน้ำจะหยดใส่หน้าขนมทำให้ขนมหน้าเป็นรอยบุ๋มไม่สวย ถ้านึ่งครั้งต่อไปต่อจากครั้งแรก ให้เช็ดหยดน้ำบนฝาลังถึงให้แห้งสนิท จึงปิดฝา
ช้อนไม้ พายไม้

พายไม้ ช้อนไม้           พายไม้ลักษณะ ปลายแบนยาว มีด้ามสำหรับถือ ใช้กวนหรือผสมส่วนผสม สำหรับช้อนไม้ ลักษณะคล้ายพาย แต่รูปร่างเป็นช้อนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ ทั้งพายไม้และช้อนไม้ ส่วนใหญ่ใช้คู่กับกระทะทอง หม้อตุ๋น สำหรับกวนขนม เช่น เปียกปูน ตะโก้ วุ้น หรือ ตุ๋นสังขยา ทาขนมปัง
ถ้วยตะไล

ถ้วยตะไล           ลักษณะ เป็นถ้วยเคลือบดินเผา สีขาวขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว ก่อนใช้ต้องล้างให้สะอาด ใช้ทำขนมถ้วยฟู ขนมน้ำดอกไม้ ต้องนึ่งถ้วยให้ร้อนเสียก่อน ขนมจะหลุดออกจากพิมพ์ได้ง่าย ถ้าทำขนมปุยฝ้ายใส่กระทงกระดาษลงในถ้วยอีกทีจึงหยอดแป้งลงไป เมื่อใช้เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาด ใส่ตะแกรงผึ่งให้แห้งซ้อนกันไว้เก็บใส่กล่อง
ถาดขนมสี่เหลี่ยม

ถาดขนมสี่เหลี่ยม           ลักษณะ เป็นถาดอลูมิเนียม ส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีหู 2 ข้าง สำหรับจับ ใช้ได้ทั้งอบ ผิง หรือนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้ทำขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมสาลี่ ใช้เสร็จแล้วล้างให้สะอาด ระวังเรื่องเศษอาหารที่ติดตามซอกมุมด้วย ถ้าหมักหมมนานๆอาจเกิดเป็นพิษต่อร่างกายได้
ที่ตีไข่

ที่ตีไข่ เครื่องตีไข่ไฟฟ้า           มีทั้งชนิดทำด้วยมือ และใช้ไฟฟ้า ที่ตีไข่ของไทยก็เหมือนกับของฝรั่งหรือของต่างชาติ เพราะได้รับอิทธิพลการทำขนมมาจากต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นขนมที่มีส่วนผสมไข่เป็นหลัก เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ขนมไข่ สาลี่ ก็ดัดแปลงมาจากพวกขนมเค้ก
          วิธีการใช้ ที่ตีไข่แบบใช้มือตี ต้องเลือกภาชนะที่ใช้ตี ปากไม่กว้างจนเกินไป เพราะไข่จะขึ้นฟูได้น้อย ภาชนะตลอดจนที่ตีไข่ต้องแห้งสนิท ไม่เปื้อนน้ำมันหรือไม่มีส่วนผสมที่เป็นน้ำหยดลงไปในไข่ การตีไข่ต้องตีให้อากาศแทรกตัวเข้าไปในไข่ให้มาก ไข่จึงจะขึ้นดี โดยวิธีตีเข้าหาตัว ไม่ใช้วิธีตีกดลงไปตรงๆจะทำให้ไข่ขึ้นช้า ถ้าเป็นที่ตีไข่แบบใช้ไฟฟ้าก็จะง่ายขึ้นเพราะจะมีสปีดบอกไว้แล้วที่ตัวเครื่อง เมื่อใช้แล้วทำความสะอาดทุกซอกมุมให้ทั่ว ถ้าเป็นแบบใช้ไฟฟ้า อย่าให้น้ำถูกมอเตอร์เพราะจะทำให้ไฟฟ้าช็อตได้ ถ้าสกปรกมากก็ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดให้สะอาด
ตะแกรงร่อนแป้ง

ตะแกรงร่อนแป้ง           ลักษณะ เป็นตะแกรงกลม ทำด้วยสแตนเลส ทองเหลือง หรือไม้ ไม่มีด้ามถือ ใช้ร่อนแป้ง น้ำตาล ในส่วนผสมของขนมที่ต้องการความละเอียด ฟูเบา ขนมบางชนิดต้องฝนแป้งดิบ เช่น ขนมขี้หนูหรือขนมทราย ใช้ตะแกรงร่อนแป้งร่อน จะได้เม็ดขนมที่ละเอียด ดีกว่าฝนด้วยกระชอนกรองกะทิ
          เมื่อใช้เสร็จล้างน้ำใช้แปรงขัดสิ่งสกปรกที่ตะแกรงออกให้หมด ผึ่งแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ครั้งต่อไป ถ้านำมาใช้ขณะที่ตะแกรงยังไม่แห้ง แป้งจะเกาะติดทำให้อุดตัน ร่อนแป้งไม่ออก
กระชอนกรองกะทิ

ตะแกรงกรองกะทิ           ลักษณะ คล้ายตะแกรงร่อนแป้ง แต่จะเป็นตะแกรงล้วน หรือทำด้วยอลูมิเนียมเจาะรู มีด้ามถือ มีหู สำหรับพาดเกาะหม้อหรืออ่างเวลาคั้นกะทิ
          เมื่อใช้เสร็จล้างให้หมดกากมะพร้าว แขวนไว้ ผึ่งให้แห้ง
กระต่ายจีน

กระต่ายจีน           ลักษณะ เป็นไม้กระดานแผ่นยาว มีเหล็กแหลม หรือตะปูขนาดเล็กตัดปลายโผล่ขึ้นมาประมาณครึ่งซ.ม ใช้สำหรับขูดมะพร้าว และมันต่างๆที่ต้องการให้เป็นฝอย
          วิธีใช้ มะพร้าวปอกเปลือก กะเทาะกะลาออก ถ้าต้องการมะพร้าวขูดขาวก็ขูดผิวสีดำออก ขูดมะพร้าวที่เป็นชิ้นกับกระต่ายจีน ลักษณะที่ได้จะคล้ายกับมะพร้าวที่ขูดด้วยเครื่องขูดไฟฟ้า ถ้าต้องการขูดมันสำปะหลัง หรือมันอื่นๆก็ทำลักษณะเดียวกัน
มือแมว คันชัก

มือแมว คันชัก           ลักษณะ มือแมวขูดมะพร้าวจะคล้ายกับมือของแมวจริงๆ มะพร้าวที่ขูดออกมาจะเป็นฝอย แต่ถ้าขูดมะพร้าวอ่อนที่ใช้ทำข้าวเหนียวเปียก ต้องให้ติดกันเป็นชิ้นใหญ่ ส่วนคันชัก ใชัขูดมะพร้าวทึนทึกให้เป็นเส้น มะพร้าวที่ขูดด้วยคันชัก เส้นมะพร้าวจะใหญ่กว่าที่ขูดด้วยมือแมว
          วิธีการใช้ ใช้ขูดมะพร้าวทั้งกะลา ขูดเอาเนื้อขาวๆ โดยขูดวงรอบนอกเข้าหาข้างในสุด จะขูดง่ายกว่าขูดสะเปะสะปะ
แหนบจีบขนม

แหนบจีบขนม           ลักษณะ คล้ายแหนบที่ใช้ถอนขน แต่มีลักษณะแบนเรียบ หรือมีลวดลายเพื่อความสวยงาม ทำด้วยทองเหลือง หรือเหล็ก ใช้ทำขนมจีบ ขนมช่อม่วง ปั้นสิบ
          วิธีการใช้ เมื่อปั้นแป้งเป็นโครงร่างตามต้องการ ใช้แหนบบีบริมให้เกิดรอยหยัก ในกรณีขนมปั้นสิบ ถ้าเป็นขนมช่อม่วง ปั้นเป็นก้อนกลมและจีบตั้งแต่ส่วนกึ่งกลางของลูกกลมให้เป็นกลีบดอกด้านใน และจีบไล่ออกมาเป็นกลีบดอกด้านนอก
สปาตูล่า

สปาตูล่า           ลักษณะ คล้ายพายไม้ไผ่บาง ยาว ทำด้วยสแตนเลสเป็นส่วนใหญ่ สปาตูล่านี้ไม่ใช่เป็นอุปกรณ์ของขนมไทย ส่วนใหญ่ใช้ในงานเบเกอรี่ แต่ขนมไทยบางชนิดต้องใช้พายไม้ไผ่บางๆสำหรับแซะขนม เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวเกรียบอ่อน ขนมเรไร การหาไม้ไผ่มาทำเป็นพายให้พอดีที่จะปาดขนมได้เรียบสะอาดเป็นเรื่องยาก จึงต้องใช้สปาตูล่าแทน เพราะถ้าใช้ไม้ไผ่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และคุณภาพไม่สม่ำเสมอ
เขียง

เขียง           เขียงที่ใช้ทำขนมหรือเรียกว่า เขียงหวาน ลักษณะจะกลม หรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมแต่จะบางกว่าเขียงคาว เขียงคาวส่วนใหญ่จะเป็นรูปกลมหนา ทำด้วยไม้มะขาม เพื่อความทนทานงานหนักในการหั่นสับอาหารต่างๆ ส่วนเขียงหวานรูปร่างจะสวยและบอบบางกว่า เพราะงานที่ทำจะเป็นงานหั่นซอยเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น หั่นใบเตย ซอยใบมะกรูด หั่นผลไม้
มีด

มีดแบบต่าง ๆ มีดสับ มีดปอกผลไม้
          มีดมีอยู่หลายชนิด ประกอบด้วย มีดสับ มีดปอกผลไม้ มีดคว้าน
          มีดสับ จะมีลักษณะใหญ่ หนา มีน้ำหนักมาก เพื่อให้มีแรงกดลงไป ช่วยย่นระยะเวลาในการสับให้สั้นขึ้น
          มีดหั่น จะคม บาง เรียว ถ้ามีดหนาไปจะหั่นลำบาก ของที่หั่นออกมาจะไม่สวย
          มีดปอกผลไม้ ใช้มีดขนาด 1.5 ซ.ม. ยาวประมาณ 5 นิ้ว มีทั้งชนิดปลายแหลม และปลายมน ควรลับมีดให้คมอยู่เสมอ เพราะผักและผลไม้ที่ปอกจะได้ไม่ช้ำ
          มีดคว้าน ปลายแหลมเล็ก โค้ง ใช้สำหรับคว้านเมล็ดผลไม้ แกะสลัก ผัก ผลไม้ หรือของอื่นที่ต้องการให้สวยงาม มีดต้องคม ปลายต้องแหลมจะได้ลวดลายที่สวย
อ่างเคลือบ

อ่างเคลือบ           อ่างเคลือบที่ใช้มีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กจนถึงเป็นกะละมังขนาดใหญ่สำหรับใช้ล้างของ สาเหตุที่ต้องใช้อ่างเคลือบเพราะขนมไทยบางชนิด มีส่วนประกอบของ น้ำปูนใส เกลือ ไข่ ถ้าใช้โลหะพวกเหล็ก หรืออลูมิเนียม สารประกอบของโลหะที่ทำภาชนะ อาจปนเข้าไปกับอาหาร อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าไม่ชอบอ่างเคลือบ อาจเลือกอ่างสแตนเลสก็ได้ แต่จะมีราคาแพงกว่า
กระจ่าละเลงขนมเบื้อง

กระจ่าละเลงขนมเบื้อง           ลักษณะ ประกอบด้วยส่วนตัวกระจ่า ซึ่งทำจากกะลาขัดเงา ตัดออกมาเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว และด้ามเป็นไม้ตัดให้โค้งงอเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการละเลง แต่สมัยโบราณอาจมีการแกะสลักด้าม เพื่อความสวยงามก็มี
          วิธีการใช้ ใช้ละลายขนมเบื้อง ซึ่งต้องอาศัยศิลปะและความชำนาญในการละเลง ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนมาก ตั้งกระทะขนมเบื้องให้ร้อนเช็ดด้วยน้ำมันพอให้ลื่น ไม่ติดกระทะ ใช้กระจ่าจุ่มแป้งแล้วมาละเลงให้เป็นวงกลม ต้องเร็ว เพราะแป้งจะแห้งเสียก่อน
ครก

ครก           ครกที่ใช้เป็นครกหิน หรือครกไม้ ครกดินก็ได้ตามแต่ละบ้านจะมี ส่วนใหญ่ไว้ใช้โขลกถั่วลิสงคั่ว งาคั่ว เผือกบด กล้วยบด
หวี

หวี           ลักษณะ คล้ายหวีที่ใช้หวีผม แต่ไม่มีฟัน ด้านคมจะหยัก วัสดุที่ใช้ทำเป็นสแตนเลส เหล็กหรือทองเหลืองก็ได้ ถ้าเป็นเหล็ก เวลาหั่นผักบางชนิดจะดำ และจะเป็นสนิมง่าย
มีดตัดวุ้น

มีดตัดวุ้น           ลักษณะ รูปร่างเป็นมีด มีด้ามถือ แต่ฟันจะหยัก และจะหนากว่ามีดฟันเลื่อยสำหรับตัดผักผลไม้ ส่วนใหญ่จะทำด้วยทองเหลือง
          วิธีการใช้ ตัดวุ้นเพื่อให้เกิดลวดลาย โดยตัดกดลงไป ไม่ตัดแล้วกดปาดเหมือนมีดทั่วไป เพราะจะทำให้ขนมเละ และไม่มีลาย ใช้ตัดวุ้นหวาน วุ้นกะทิ หรือวุ้นที่ใช้ทำวุ้นกรอบ
ไม้คลึงแป้ง

ไม้คลึงแป้ง           ลักษณะ เป็นไม้ท่อนกลม คอดปลาย มีไม้เล็ก 2 ข้างพอเหมาะมือสำหรับจับคลึง ไม้คลึงแป้งที่ดีต้องมีน้ำหนัก คลึงแล้วเรียบสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีไม้คลึงแป้งใช้ขวดเปล่าคลึงแทนก็ได้
พายยาง

พายยาง           ลักษณะ คล้ายพายไม้ แต่ทำด้วยพลาสติก ใช้สำหรับผสมส่วนผสมให้เข้ากัน หรือปาดส่วนผสมที่เลาะอยู่ปากอ่างให้รวมอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ควรกวนผสมของร้อน หรือนำไปผัดแทนตะหลิว เพราะความร้อนจะทำให้พลาสติกละลายปนกับอาหารทำให้เกิดอันตรายได้