น้ำพุทรา น้ำมะดัน น้ำกระเจี๊ยบ น้ำกระท้อน น้ำกล้วยหอม น้ำเก๊กฮวย น้ำขิง น้ำขนุน น้ำแคนตาลูป น้ำเงาะ
น้ำข้าวโพด น้ำตะไคร้ น้ำแตงกวา น้ำแตงไทย น้ำแตงโม น้ำถั่วเหลือง น้ำบัวบก น้ำใบเตย น้ำฝรั่ง น้ำฟักทอง
น้ำมันแกว น้ำมะขาม น้ำมะเขือเทศ น้ำมะตูม น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว น้ำมะเฟือง น้ำมะไฟ น้ำมะม่วง น้ำแห้ว
น้ำมะละกอ น้ำละมุด น้ำลำไย น้ำลูกจาก น้ำลูกตาล น้ำรากบัว น้ำว่านหางจรเข้ น้ำอ้อย น้ำทับทิม น้ำสับปะรด
น้ำเม็ดบัว น้ำลิ้นจี่ น้ำส้มโอ น้ำองุ่น น้ำแอปเปิล น้ำระกำ


น้ำพุทรา

พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบเดี่ยว ใบมีลักษณะค่อนข้างกลม กิ่งก้านมีหนาม ออกดอกเป็นช่อ ผลกลม บางชนิดเมื่อสุกจะมีรสหวาน บางชนิดก็มีรสเปรี้ยว เป็นพืชตระกูลเล็บเหยี่ยว

ส่วนผสม

น้ำพุทรา
พุทรา สุกงอม 3      ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 4      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำพุทราล้างน้ำให้สะอาด เติมน้ำลงไป แล้วนำไปต้ม  ต้มจนผลพุทราเปื่อยพอยีได้ หลังจากนั้นนำมายีให้เนื้อหลุดออกจากเมล็ด กรองเอาเมล็ดและเปลือกทิ้ง นำน้ำกับเนื้อพุทราที่กรองได้ไปตั้งไฟ เติมน้ำตาลทราย เกลือป่น แล้วชิมรสดู จะได้น้ำพุทราที่อร่อยมีรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยรสหวาน เวลาดื่มใส่น้ำแข็ง ช่วยแก้กระหายน้ำ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  พุทรา  มีวิตามินซี ฟอสฟอรัส ไขมัน คัลเซียม
-  เปลือก ลำต้น  ใช้ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการท้องร่วง
-  ราก  ต้มดื่มแก้ไข้
-  ผล  มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง
-  ผลสุก  นำมารับประทานสดๆ หรือใช้ เชื่อม กวน ทำแยม

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะดัน

มะดัน เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นตามริมน้ำ ผลมีสีเขียว ขนาดเท่าหัวแม่มือหรือใหญ่กว่าบ้างเล็กน้อย มีรสเปรี้ยวจัด รับประทานได้ทั้งมะดันแก่ และมะดันอ่อน

ส่วนผสม

น้ำมะดัน
มะดัน 6-7      ผล
น้ำเปล่า 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำมะดันล้างน้ำให้สะอาด ผ่าครึ่งแล้วเอาเมล็ดออก จากนั้นเติมน้ำใส่หม้อตั้งไฟ ใส่เนื้อมะดัน พอน้ำเดือด เติมน้ำเชื่อมให้ออกรสหวาน แล้วต้มต่อจนเนื้อมะดันเปื่อยนิ่ม กรองเอากากออก เติมเกลือป่นเล็กน้อย จะทำให้น้ำมะดันมีรสเปรี้ยวหวานมากขึ้น เวลาดื่มควรเติมน้ำแข็งลงไป เพื่อช่วยแก้กระหายน้ำ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  มะดัน  มีวิตามินซี
-  ใบ  นำมาปิดปากภาชนะเวลาดองผักก่อนนำไปตากแดด
-  ใบอ่อน  นำมาใส่ในแกงเผ็ดได้ หรือจะใช้รสเปรี้ยวของมะดันแทนมะนาวก็ได้
-  มะดัน  ช่วยล้างยางผลไม้ได้ หรือใส่มะดันในหัวปลีที่หั่นซอยจะทำให้หัวปลีขาว
-  นำมะดันมารับประทานดิบๆ หรือแช่อิ่มเก็บไว้ได้หลายวัน

กลับขึ้นด้านบน

น้ำกระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบ เป็นไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้าน ลำต้นมีสีม่วงอมแดง ใบมีสีแดงอมเขียว ขอบใบเป็นหยักๆ ออกดอกตรงง่ามกิ่ง กลีบดอกสีชมพู โคนกลีบสีแดงเข้ม

ส่วนผสม

น้ำกระเจี๊ยบ
กลีบดอกกระเจี๊ยบ 3      ถ้วยตวง
น้ำ 3      ลิตร
น้ำตาล 1      กิโลกรัม
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

เตรียมกระเจี๊ยบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด เติมน้ำแล้วนำไปต้ม (ควรเป็นหม้อเคลือบ) ประมาณ 40 นาที เนื้อกระเจี๊ยบจะเปื่อยนิ่ม สีของน้ำจะเป็นสีแดงสด จากนั้นนำไปกรองกากออก จะได้น้ำกระเจี๊ยบสด  เติมน้ำตาลทราย เกลือ นำไปตั้งไฟอีกครั้งประมาณ 3 นาที แล้วยกลง จะได้น้ำกระเจี๊ยบที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานอร่อยดี

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  กลีบกระเจี๊ยบแดง  มีธาตุแคลเซียมสูง มีวิตามินเอ วิตามินซี กรดซิตริก ฟอสฟอรัส
-  เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น ลดความดันโลหิตสูง แก้กระหายน้ำ

กลับขึ้นด้านบน

น้ำกระท้อน

กระท้อน เป็นไม้ป่ายืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขา ใบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง กิ่งอ่อนจะมีขนนุ่มๆ ดอกสีเหลืองอ่อน ขนาดเล็ก ผลดิบมีสีเขียว มียางมาก ผลสุกมีสีเหลือง เมื่อผ่าออกจะเห็นเมล็ดใน มีปุยสีขาวหุ้ม หนึ่งผลมีหลายเมล็ด

ส่วนผสม

น้ำกระท้อน
เนื้อกระท้อน 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

เลือกกระท้อนสุกที่มีเนื้อมาก นำมาปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก น้ำเชื่อม ใส่เกลือ ปั่นจนเนื้อกระท้อนละเอียด จะได้น้ำน้ำกระท้อนสีขาวขุ่นที่มีเนื้อกระท้อนปนอยู่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว อร่อยชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อกระท้อน  มีวิตามินเอ วิตามินซี ฟอสฟอรัส คัลเซียม กรดอินทรีย์ มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต
-  ใบสด  ใช้ต้มอาบ ช่วยขับเหงื่อในคนที่เป็นไข้
-  รากกระท้อน  ตำใส่น้ำและน้ำส้มสายชู ดื่มช่วยขับลม และแก้ท้องเดิน
-  เปลือกลำต้น  ตำทาแก้โรคผิวหนัง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำกล้วยหอม

ต้นกล้วย ลักษณะทั่วไป มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลเข้ม  ต้นบนดินมีลักษณะเป็นกาบใบซ้อนหุ้มห่ออัดกันแน่น เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบกว้าง เส้นกลางใบนูน กลีบใบสีเขียวเข้ม ใต้ใบมีสีอ่อน สีขาวนวล มีดอกเรียกว่าหัวปลี ผลเป็นเครือ ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง

ส่วนผสม

น้ำกล้วยหอม
กล้วยหอมหั่นเป็นชิ้น 1      ถ้วยตวง
น้ำสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
นมสด 1      ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

นำกล้วยหอม ปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก น้ำเชื่อม นมสด ปั่นจนกล้วยหอมละเอียด จะได้น้ำกล้วยหอม สีเหลืองอ่อน รสชาติหอมหวานชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  กล้วยหอม  มีวิตามินเอ วิตามินซี ฟอสฟอรัส โปรตีน คัลเซียม มีสารเพกติน มีน้ำตาลหลายชนิด
-  ใบตอง ใช้ปิดแผลไฟไหม้ ใช้ห่อขนม
-  เปลือกกล้วยหอมสุก  ช่วยรักษาส้นเท้าแตก
-  ยางกล้วย  ใช้ห้ามเลือด
-  เนื้อกล้วย  ฝานทอดอบเนย ทำเค้กกล้วยหอม
-  ลำต้น  ใช้ทำแพ ใช้เลี้ยงหมู
-  กาบกล้วย  ใช้ทำเชือก
-  หัวปลี  ใช้ยำ แกงเลียง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำเก๊กฮวย

เก๊กฮวย เป็นไม้ดอกตระกูลเดียวกับทานตะวัน ปลูกมากทางภาคเหนือ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตรง ลักษณะใบเป็นรูปใข่ ปลายใบแหลม ขอบเว้า ออกดอกเป็นกระจุก ดอกสีเหลืองขนาดเล็ก นำมาตากแห้งเก็บไว้ได้นาน

ส่วนผสม

น้ำเก๊กฮวย
ดอกเก๊กฮวย 1      ถ้วยตวง
น้ำ 2      ถ้วยตวง
น้ำตาลกรวด 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

ใช้ดอกเก๊กฮวยแห้ง มาล้างให้สะอาด เติมน้ำลงในหม้อต้ม ใส่เก๊กฮวยลงในหม้อ ต้ม 2 นาที จนน้ำที่ต้มเป็นสีเหลือง แล้วนำมากรอง เอากากออก เติมน้ำตาลลงไป ต้มจนน้ำตาลละลาย จะได้น้ำเก๊กฮวยที่มีรสชาติหวานหอมชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เก๊กฮวยพันธุ์เบญจมาศหนู  มีน้ำมันหอมระเหย มีรสขม
-  ดอก  เป็นยาระงับอาการปวดศีรษะ ไข้หวัด ขับลมในลำไส้ บำรุงประสาท
-  ดอกและใบ  ต้มละลายนิ่ว
-  ใบและต้นใช้รักษาโรคผิวหนังได้
-  เก๊กฮวยพันธุ์เบญจมาศสวน  มีน้ำมันหอมระเหย มีสารฝาดสมาน
-  ดอก  ช่วยย่อยและเจริญอาหาร เป็นยาระบาย แก้กระหายน้ำ แก้อาการร้อนใน
-  ใบ  แก้ปวดศีรษะ
-  ต้น  ผสมกับพริกไทยดำรักษาโรคโกโนเรีย ถ้าสกัดเอาน้ำจากต้นสด ช่วยลดอาการอักเสบ

กลับขึ้นด้านบน

น้ำขิง

ขิง เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เป็นแง่ง มีลำต้นบนดิน มีกาบใบหุ้มกันแน่น ใบเล็กเรียว ขึ้นเป็นสองแถวสลับกัน ออกดอกเป็นช่อ สีเหลืองแกมเขียว ก้านดอกจะแทงออกมาจากแง่งของขิง ขิงอ่อนเหง้าจะเป็นสีนวล ถ้าแก่จะเป็นสีน้ำตาล

ส่วนผสม

น้ำขิง
ขิงหั่นเป็นชิ้นๆ ประมาณ 1      ถ้วยตวง
น้ำ 2      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำขิงที่ไม่แก่มากนัก มาปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นๆ พอเหมาะ แล้วทุบพอแหลก เติมน้ำในหม้อต้ม ใส่ขิงที่ทุบแตกต้มประมาณ 10 นาที กรองกากขิงออก จะได้นำขิงสด  เติมน้ำตาล คนให้น้ำตาลละลาย อย่านำไปตั้งไฟอีกเพราะจะทำให้น้ำหอมระเหยออกหมด แล้วจะได้น้ำขิงสดที่มีสีเหลืองอ่อน มีรสเผ็ดเล็กน้อย หอมหวาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ขิง เป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย มีฟอสฟอรัส คัลเซียม
-  ขิงแก่  แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เมารถ เมาเรือ โดยนำมาต้มดื่มน้ำ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีน ใช้เป็นยาแก้ไอ
-  นอกจากนี้ ขิง ยังใช้ประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ยำ ผัด ขิงดอง ใส่ขนมหวาน มันเทศต้ม น้ำเต้าฮวย

กลับขึ้นด้านบน

น้ำขนุน

ขนุน เป็นไม้ยืนต้นใบค่อนข้างหนา ใบดก หนาทึบ ดอกตัวผู้จะเป็นแท่งยาว ดอกตัวเมียจะมีบริเวณโคนต้นหรือโคนกิ่ง ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นผล ผลมีลักษณะกลมยาว ผิวมีหนาม เนื้อในเป็นยวง มีสีเหลือง รสชาติหอมหวาน

ส่วนผสม

น้ำขนุน
เนื้อขนุน 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
นมสด 1      ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

แกะเนื้อขนุนแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ น้ำเชื่อม และนมสด 1 ช้อนโต๊ะ ปั่นจนเนื้อขนุนละเอียด จะได้น้ำขนุนสีเหลืองข้นรสชาติหอมหวาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ขนุน  มีวิตามินเอ คัลเซียม ฟอสฟอรัส น้ำมันหอมระเหย มีน้ำตาลสูง
-  รากขนุนพันธุ์ละมุด  รักษาโรคท้องร่วง
-  ผล  ใช้รับประทาน ใช้กวน เชื่อม อบแห้ง แต่งหน้าขนมหวาน ใส่ขนมหวาน ขนมรวมมิตร ทำแยม
-  เมล็ด  ใช้ต้ม หรือใส่ในแกงเผ็ดก็อร่อย

กลับขึ้นด้านบน

น้ำแคนตาลูป

แคลตาลูป เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นไม้เถา เถาและก้านใบมีขนนิ่ม เถาเป็นเหลี่ยม ใบเหลี่ยมมน ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละดอก มีผลกลมรี ผิวผลมีสีเหลือง เนื้อในมีสีเหลืองอมส้ม

ส่วนผสม

น้ำแคนตาลูป
เนื้อแคนตาลูป 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำแคนตาลูปมาปอกเปลือก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก เติมน้ำเชื่อม ปั่นจนเนื้อแคนตาลูปละเอียด จะได้น้ำแคนตาลูปส้มอ่อนๆ ขุ่นข้น รสชาติหอมหวาน น่าดื่ม

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  แคนตาลูป  มีน้ำตาล มีวิตามินซีเล็กน้อย มีวิตามินเอสูงมาก มีคัลเซียม ฟอสฟอรัส
-  ผลสุก  รับประทานเป็นผลไม้ รสหอมหวาน

กลับขึ้นด้านบน

น้ำเงาะ

เงาะ เป็นไม้ยืนต้น แตกกิ่งก้านสาขา เป็นทรงพุ่มเตี้ย ออกดอกตรงปลายยอด ดอกสีนวล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง ผิวผลมีขน เนื้อมีสีขาว รสหวาน

ส่วนผสม

น้ำเงาะ
เนื้อเงาะ 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/4      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำเงาะล้างให้สะอาด แกะเปลือกและเมล็ดข้างในออก เอาแต่เนื้อเงาะ ใส่ในเครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก น้ำเชื่อม เกลือ ปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้น้ำเงายสด หวานชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เงาะ มีสานแทนนิน วิตามินซี มีน้ำตาลสูง
-  เปลือกเงาะ ใช้เป็นยาขับพยาธิได้
-  ผลสุก ใช้รับประทานได้ ทำผลไม้กระป๋อง ทำแยม เงาะกวน

กลับขึ้นด้านบน

น้ำข้าวโพด

ข้าวโพด เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตรง กลม ต่อกันเป็นปล้อง สูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเลี้ยงเดี่ยวเรียวยาว ก้านใบหุ้มลำต้น ออกดอกบริเวณกาบใบ เมื่อโตขึ้นจะเป็นฝักข้าวโพด  ฝักข้าวโพดหุ้มด้วยกาบบางๆ หลายชั้น

ส่วนผสม

น้ำข้าวโพด
ข้าวโพดต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา
นมสด 1      ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

นำข้าวโพดสดมาลอกเปลือกออก แล้วล้างให้สะอาด นำข้าวโพดต้มให้สุก 15 นาที จากนั้นแกะเมล็ดให้ได้ประมาณ 1 ถ้วยตวง นำไปใส่เครื่องปั่นโดยเติมน้ำสุก น้ำเชื่อม เกลือ นมสด ปั่นจนข้าวโพดละเอียด จะได้น้ำข้าวโพดรสชาติอร่อย

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เมล็ดข้าวโพด  มีคัลเซียม มักเนเซียม ฟอสฟอรัสสูง โปรตีน แป้ง วิตามินเอ
-  ฝอยข้าวโพดสีน้ำตาล  ใช้ทำน้ำมันหอมระเหย มีสารที่เป็นอัลคาลอยด์ที่ระเหยได้ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
-  ซังข้าวโพด  ใช้ปรุงเป็นยารักษาตานขโมยในเด็ก
-  ฝักข้าวโพด  ใช้ต้ม ย่างรับประทาน ทำซุปข้าวโพด ทำแป้งข้าวโพด
-  ฝักอ่อน  ใช้ผัดเป็นอาหาร

กลับขึ้นด้านบน

น้ำตะไคร้

ตะไคร้ เป็นพืชสวนครัว ปลูกง่าย ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน เป็นใบเดี่ยว ใบเรียวแหลม ขอบใบเรียวคม ลำต้นอยู่บนดิน กาบใบสีออกเทาเขียว หรืออมแดง ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ

ส่วนผสม

น้ำตะไคร้
ตะไคร้สด 10      ต้น
น้ำ 2-3      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำตะไคร้ 10-20 ต้น ตัดใบออก นำมาล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนๆ พอประมาณ ทุบพอแตก ใส่ในหม้อ เติมน้ำต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที ยกลง กรองเอกากออก นำไปต้มใหม่พร้อมใส่น้ำตาล คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงปล่อยให้เย็น จะได้น้ำตะไคร้สีเขียวอ่อนใส มีกลิ่นหอมของตะไคร้อ่อนๆ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  นำตะไคร้มากลั่นด้วยไอน้ำให้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของบัคเตรีได้
-  มีวิตามินเอ ฟอสฟอรัส เมนทอล
-  ตะไคร้ต้น รับประทานแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาว ใช้ทำเครื่องเทศต่างๆ

กลับขึ้นด้านบน


น้ำแตงกวา

แตงกวา เป็นพืชจำพวกไม้เถา ใบมีขน ดอกสีเหลือง ผลกลมยาว มีหลายพันธุ์ที่รู้จักกัน มีแตงกวา กับแตงร้าน ผิวผลบาง มีสีขาวปนเขียว ถ้าผลสุกจะเป็นสีเหลือง

ส่วนผสม

น้ำแตงกวา
แตงกวา 2      ผล
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

แตงกวา 2 ผล ปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด คว้านเอาเมล็ดออกหั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก น้ำเชื่อม ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด ตอนดื่มใส่น้ำแข็งทุบ หรือนำเข้าแช่เย็นเลยก็ได้ จะได้น้ำแตงกวาที่มีสีเขียวอ่อนกลิ่นหอมอ่อนๆ รสหวานเย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  แตงกวา  มีวิตามินซี วิตามินอี คัลเซียม เหล็ก
-  น้ำแตงกวา ใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้
-  ราก  ใช้ตำแล้วพอก ลดอาการอักเสบจากขนสัตว์
-  เมล็ดแก่  ใช้กินเป็นยาขับพยาธิ
-  ผล  ใช้เป็นผักสด จิ้ม ยำ ผัด ดอง
-  ผลหั่นบาง  บำรุงผิวหน้า

กลับขึ้นด้านบน


น้ำแตงไทย

แตงไทย เป็นไม้เถา ใบมีขนาดใหญ่ ทุกส่วนมีขน ผลกลมโตหรือกลมรี ผลสีเขียวสลับขาว เนื้อในสีขาวนวล ผลสุกมีกลิ่นหอม

ส่วนผสม

น้ำแตงไทย
แตงไทย 1      ถ้วยตวง
น้ำสุก 1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำแตงไทยสุก ปอกเปลือกผ่าเอาเมล็ดออก หั่นเอาแต่เนื้อใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ใส่เกลือเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด เมื่อดื่มเติมน้ำแข็งลงไปหรือนำเข้าแช่เย็น จะได้น้ำแตงไทยที่มีรสหอมหวานอร่อย

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อ  รับประทานแก้โรคเลือดกำเดาออก
-  ผลแก่  มีวิตามินซี วิตามินเอ คัลเซียม
-  เมล็ดแก่  เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไอ
-  ผลอ่อน  ใช้เป็นผักจิ้ม ยำ แกง ดอง
-  ผลสุก  รับประทานกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ เป็นขนมหวาน

กลับขึ้นด้านบน


น้ำแตงโม

แตงโม เป็นไม้เถา ก้านใบยาว ทุกส่วนมีขน ผลมีขนาดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ผิวสีเขียวแก่ เขียวอ่อน สีขาวนวล เนื้อในมีสีแดง สีเหลือง มีเมล็ดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สายพันธุ์

ส่วนผสม

น้ำแตงโม
เนื้อแตงโม 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำแตงโมมาผ่าซีก หั่นเอาแต่เนื้อ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้เข้ากัน เมื่อจะดื่มใส่น้ำแข็ง น้ำแตงโมจะมีสีแดงน่าดื่ม

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อแตงโม  มีรสหวานเย็น รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับลมในกระเพาะปัสสาวะ
-  รากและใบสด  ต้มดื่มแก้โรคท้องร่วง บิด
-  ผลอ่อน  ใช้ปรุงอาหาร ลวก จิ้ม แกง
-  เปลือกแตงโมสด ใช้แกง และยำ

กลับขึ้นด้านบน


น้ำถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูง มีใบประกอบ ใบย่อย ใบยาวเรียว ดอกเป็นช่อ ผลเป็นฝัก ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาล ฝักหนึ่งมีหลายเมล็ด เมล็ดกลมรี เมล็ดสีนวล เหลืองอ่อน ดำปนน้ำตาล

ส่วนผสม

น้ำถั่วเหลือง
ถั่วเหลือง 1      ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำ 6      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำถั่วเหลืองคัดเอาเฉพาะเมล็ดดีๆ ล้างให้สะอาด นำไปแช่น้ำ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ ปั่นให้ละเอียดแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เอากากออก น้ำถั่วเหลืองที่ได้นำไปต้มให้เดือด เติมน้ำตาลทราย ปรุงรสหวานตามชอบ จะได้น้ำถั่วเหลืองที่หวานอร่อย รับประทานร้อน เย็นตามชอบ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ถั่วเหลือง  มีโปรตีนสูง ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน
-  ใช้ทำน้ำเต้าหู้ เต้าเจี้ยว เต้าฮวย ทำน้ำมัน
-  กาก  ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้ทำปุ๋ย

กลับขึ้นด้านบน


น้ำบัวบก

บัวบก เป็นพืชที่ขึ้นเองในที่ชื้นแฉะ จะเลื้อยแตกราก และใบตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบยาว ใบออกเป็นกระจุก ขยายพันธุ์ได้ง่าย

ส่วนผสม

น้ำบัวบก
ใบบัวบก 2      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำใบบัวบกสดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นฝอย ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ปั่นให้ละเอียด นำมากรองแยกกากออก เติมน้ำเชื่อมลงไปพอหวาน จะได้น้ำบัวบกที่มีสีเขียวใส เมื่อจะดื่มเติมน้ำแข็งลงไป ดื่มแก้กระหาย

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  มีวิตามินเอ คัลเซียม
-  รับประทานแก้ร้อนใน ดับกระหาย
-  เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ
-  ใช้เป็นเครื่องเคียง ใช้ยำ

กลับขึ้นด้านบน


น้ำใบเตย

เตยหอม เป็นพืชที่ขึ้นรวมกันเป็นกอ ลำต้นกลมต่อเป็นข้อๆ โคนมีรากงอกเพื่อยึดลำต้น ใบงอกออกจากลำต้นเรียงเป็นวงรอบลำต้น ใบสีเขียวเรียวยาว ปลายใบแหลม ชอบขึ้นในน้ำชื้นแฉะ ลำต้นสูง 2-3 ฟุต เป็นพืชตระกูลเดียวกับการเกด

ส่วนผสม

น้ำใบเตย
ใบเตยหอม 20-25      ใบ
น้ำ 4      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำใบเตยสดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพอประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรก ต้มในน้ำเดือด เคี่ยวไปประมาณ 10 นาที เติมน้ำตาลทรายให้ออกรสหวาน กรองเอากากออก   ส่วนที่สอง ให้นำไปปั่นกรองเอากากออก นำน้ำใบเตยที่มีสีเขียวเติมลงไปในน้ำต้มครั้งแรก จะได้น้ำใบเตยสีเขียว มีกลิ่นหอม เวลาดื่ม เติมน้ำแข็ง รู้สึกหอมหวานชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ใบเตยสด  มีน้ำมันหอมระเหย
-  ใช้แต่งเป็นสีอาหาร เป็นสารคลอโรฟิลล์ ใช้ต้มดื่มบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น
-  ราก  นำมาสกัด ใช้ลดน้ำตาลในเลือด
-  ใบ  ใช้ทำกระทงตะโก้ ห่อไก่ ใส่หม้อหุงข้าวทำให้ข้าวหอม

กลับขึ้นด้านบน


น้ำฝรั่ง

ฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เปลือกต้นเรียบและเห็นเป็นดวงสีน้ำตาลอ่อน ใบเดี่ยว ผิวผลสีเขียว เมื่อสุกผิวจะเขียวอ่อนตึง เนื้อในสีขาว ภายในมีเมล็ด

ส่วนผสม

น้ำฝรั่ง
เนื้อฝรั่ง 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

เลือกฝรั่งที่แก่จัดแต่ยังไม่นิ่ม ล้างน้ำให้สะอาดผ่าเอาแต่เนื้อใน หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ปั่นให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อม หรืออาจจะเติมน้อยกว่าที่บอกเอาไว้เพราะฝรั่งจะมีรสหวานอยู่แล้ว ต้องชิมดูก่อน เติมเกลือเล็กน้อย จะได้น้ำฝรั่งที่มีสีเขียวอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมของผลฝรั่ง เติมน้ำแข็งลงไปหรือแข่เย็น ดื่มแล้วสดชื่น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ฝรั่ง มีวิตามินซี สูงมาก มีน้ำตาล และวิตามิน เอ ธาตุเหล็ก คัลเซียม
-  ผลสุก รับประทานเป็นยาระบายอ่อน ๆ
-  ใบฝรั่ง เคี้ยว และอมไว้สักพัก ระงับกลิ่นปากได้

กลับขึ้นด้านบน


น้ำฟักทอง

ฟักทอง เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เลื้อยไปตามดิน ยาว 5-12 เมตร เถา ก้านใบ แผ่นใบ ก้านดอก กลีบเลี้ยง และผลอ่อน มีขนยาว ใบ เป็นใบเดี่ยว เว้าเป็นหยัก ดอกเดี่ยว ดอกตัวผู้กับตัวเมีย แยกกัน แต่อยู่ในเถาเดียวกัน ผิวผล เมื่อยังอ่อน ออกสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวสลับเหลือง ผิวขรุขระ เปลือกแข็ง เนื้อในสีเหลือง ไส้ เป็นเส้นใยสีเหลืองนิ่ม มีเมล็ดสีขาวแบน ๆ ติดอยู่จำนวนใาก ฟักทองเป็นพีชตระกูล มะระ

ส่วนผสม

น้ำฟักทอง
เนื้อฟักทอง 1      ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 3      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำฟักทองไปนึ่งให้สุก แล้วใส่เครื่องปั่น เติมน้ำ แล้วปั่นให้ละเอียด นำไปตั้งไฟ ต้มให้เดือด เติมน้ำเชื่อม และเกลือลงไป ชิมรส เมื่อได้รสชาติตามชอบ กรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำฟักทองสีเหลือง น่ารับประทาน

ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ

-  ฟักทอง เป็นพืชที่มี วิตามิน เอ คัลเซียม วิตามิน ซี ฟอสฟอรัส โปรตีน
-  ใบอ่อน มีวิตามิน สูง เท่ากับเนื้อฟักทอง
-  เมล็ดแก่จัด ขับพยาธิตัวตืด ลดอาการเป็นนิ่วได้
-  เมล็ดฟักทอง มีน้ำมันที่เป็นยาบำรุงประสาท
-  ยอดฟักทอง นำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงเลียง แกงส้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริก

กลับขึ้นด้านบน


น้ำมันแกว

มันแกว เป็นไม้เถา ลำต้นอยู่ใต้ดิน หัวมันแกวใช้รับประทานได้ มันแกวมีรสหวานเย็น มีน้ำมาก แก้กระหาย

ส่วนผสม

น้ำมันแกว
เนื้อมันแกว 1      ถ้วยตวง
น้ำสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำมันแกว มาใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก น้ำเชื่อม ปั่นให้เข้ากัน เสร็จแล้วรับประทานกับน้ำแข็ง หรือจะนำเข้าแช่ตู้เย็นไว้รับประทาน     อีกวิธีหนึ่ง ให้นำมันแกว มาปั่นแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำมาผสมกับน้ำเชื่อมรับประทาน กับน้ำแข็ง หรือจะนำไปแช่ตู้เย็นไว้รับประทาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อมันแกวสด ปอกเปลือก รับประทานแก้กระหาย
-  ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะ ให้เอามันแกวต้มน้ำรับประทาน
-  ถ้าเป็นความดันสูง ให้เอามันแกวคั้นน้ำรับประทาน

กลับขึ้นด้านบน


น้ำมะขาม

มะขาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านเหนียวมาก ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยสีเหลืองส้ม ผลดิบ เปลือกผลจะติดกับเนื้อใน เมื่อสุกเปลือกจะแยกออกจากเนื้อใน และสีเปลือกก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวอมน้ำตาล เป็นสีน้ำตาลแก่ เนื้อในจะมีสีน้ำตาลแดง

ส่วนผสม

น้ำมะขาม
มะขาม 2      ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 4      ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำมะขามมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่หม้อเติมน้ำ ตั้งไฟเคี่ยวจนมะขามเปื่อยพอยีได้ กรองเอากากทิ้ง ตั้งไฟ เติมน้ำตาล และเกลือ ชิมรสดู โดยมีรสหวานนำ ตามด้วยรสเปรี้ยว เวลาดื่ม เติมน้ำแข็ง รสจพกลมกล่อมกำลังดี

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อมะขาม มีกรดอินทรีย์สูง ฟอสฟอรัส คัลเซียม วิตามินซี ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เป็นยาระบาย คั้นเอาน้ำจิบแก้ไอ ขับเสมหะ
-  เมล็ด ใช้ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก
-  เปลือกลำต้น นำไปต้มใช้เป็นยาแก้อาการท้องเดิน
-  ใบ ใช้ต้มอาบ แก้อาการไข้
-  ผล ดอก และใบอ่อน ใช้ประกอบอาหาร เช่นต้นส้ม
-  ฝักอ่อน ใช้ตำน้ำพริก ฝักแก่ นำไปแช่อิ่ม
-  เนื้อไม้แก่ ใช้ทำเขียง

กลับขึ้นด้านบน


น้ำมะเขือเทศ

มะเขือเทศ เป็นพืชไม้ล้มลุก ออกดอกออกผลแล้วต้นจะโทรม กิ่งก้านและใบมีขน ดอกช่อหรือดอกเดี่ยว ดอกสีเหลือง ผลดิบสีเขียวอมขาว เมื่อสุกจะเป็นสีแดง ผลสุกจะนิ่มมีเมล็ดจำนวนมาก เป็นพืชตระกูลพริก

ส่วนผสม

น้ำมะเขือเทศ
มะเขือเทศ 5      ผล
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/4      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

มะเขือเทศสุก ล้างน้ำให้สะอาด ผ่าครึ่งใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุกปั่นให้เข้ากัน เติมน้ำเชื่อม ใส่เกลือเล็กน้อย ชิมดูตามใจชอบ จะได้น้ำมะเขือเทศรสเข้มข้น รสหวานหอม มีเปรี้ยวเค็มเล็กน้อย ใส่น้ำแข็ง รับประทานชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  มะเขือเทศ มีวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ, บ, ซี ฟอสฟอรัส คัลเซียม เหล็ก
-  มะเขือเทศสุก จะช่วยย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยระบาย ช่วยฟอกเลือด
-  ผลสุก รับประทานสด เชื่อม ยำ ทำสลัด ต้ม แกง ผัด ทำซอส

กลับขึ้นด้านบน


น้ำมะตูม

มะตูม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นและกิ่งใหญ่มีหนามแข็ง มีใบย่อยขนาดใหญ่ 3 ใบ ใบรูปไข่ มีกลิ่นหอม ดอกสีขาว กลิ่นหอม เนื้อในของผล เมื่อดิบจะแข็ง มีสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกจะมี สีเหลืองส้ม รสหอมหวาน ภายในมีเมล็ดสีขาวจำนวนมาก เปลือกผล เมื่อสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เป้นพืชตระกูล มะนาว ส้ม

ส่วนผสม

น้ำมะตูม
เนื้อมะตูมแห้ง 20      ชิ้น
น้ำ 5      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1  1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำมะตูมแห้ง หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปปิ้งไฟ หรือคั่วให้เหลือง จะมีกลิ่นหอม ใส่หม้อเติมน้ำ ต้ม เคี่ยว ประมาณ 30 นาที กรองเอากากออก เติมน้ำตาล ชิมรสหวานตามชอบ ต้มให้เดือดประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้น้ำตาลทรายละลาย ตั้งให้เย็นรับประทานกับน้ำแข็ง หรือแช่ตู้เย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อมะตูมสุก มีวิตามิน เอ คัลเซียม ฟอสฟอรัส น้ำตาล และมีน้ำมันหอมระเหย
-  ผลแห้ง ชงดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ช่วยบำรุงธาตุ
-  เนื้อผลสุก รับประทาน ช่วยระบายท้อง ช่วยขับลม

กลับขึ้นด้านบน


น้ำมะนาว

มะนาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ตามกิ่งก้านมีหนาม ใบมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นกระจุกเล็กๆ กลีบดอกมีสีขาว ผลสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่จะออกสีเหลือง ภายในมีเมล็ดสีขาวนวล เป็นพืชตระกูลเดียวกับส้ม

ส่วนผสม

น้ำมะนาว
มะนาว 3      ผล
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

มะนาวคั้นเอาแต่น้ำ เตรียมไว้ เติมน้ำเชื่อมและน้ำต้มสุกลงไป ตามด้วยเกลือป่น คนให้เข้ากัน ชิมรส เวลาจะดื่มก็เติมน้ำแข็ง จะได้น้ำมะนาวที่มีรสหวานเปรี้ยว ดื่มแล้วกระชุ่มกระชวย แก้อาการกระหายน้ำได้ และยังทำให้รู้สึกโล่งคอ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  มะนาว มีวิตามินซีสูง มีกรดซิตริก
-  ผิวมะนาว มีวิตามินเอ และวิตามินซี มีธาตุคัลเซียม ฟอสฟอรัส มีน้ำมันหอมระเหย  ใช้ชงดื่มเป็นยาขับลม
-  ใบสด  ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ต้มน้ำอาบ
-  น้ำมะนาว  จิบบ่อยๆ แก้อาการเจ็บคอ ขับเสมหะ แก้อาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
-  ผล  ใช้สระผมป้องกันรังแค และป้องกันผมร่วง ใช้ประกอบอาหาร ทำให้อาหารมีรสชาติเข้มข้น

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชยืนต้น ลำต้นกลมตรงและสูง มีใบย่อม จำนวนมากติดกับทางมะพร้าวเป็นใบขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ มีกาบหรือใบประดับหุ้ม เวลาดอกบาน กาบหุ้มก็จะหลุดออก ดอกมีสีเหลืองอมขาว เมื่อดอกตัวผู้บานจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกย่อยจะรวมกันเป็นช่อใหญ่ เมื่อติดผลรวมเรียกว่า ทะลาย  มะพร้าวเป็นพืชตระกูลเดียวกับ หมาก ตาล

ส่วนผสม

น้ำมะพร้าว
มะพร้าวอ่อน 1      ผล
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำมะพร้าวมาปอกเปลือก ใช้มีดเฉาะกะลาตรงส่วนหัวออก เทเอาน้ำข้างในเก็บไว้ แล้วผ่าซีกตักเอาแต่เนื้อออก นำเนื้อมะพร้าวใส่เครื่องปั่น เติมน้ำมะพร้าวที่เก็บไว้ เติมน้ำต้มสุก น้ำเชื่อม ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามชอบ จะได้น้ำมะพร้าวปรุงรส หวาน มัน หอมเย็นชื่นใจ เวลาดื่มใส่น้ำแข็งจะทำให้รู้สึกสดชื่นหอมหวานอร่อย

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อมะพร้าว  มีน้ำมันร้อยละ 65 มีฟอสฟอรัส คัลเซียม คาร์โบไฮเดรต มีกรดไขมันหลายชนิดที่อิ่มตัว ถ้าทิ้งไว้นานจะมีกลิ่นหืน
-  น้ำมะพร้าว  ใช้ดื่มเป็นยาถอนพิษเบื่อเมา ในหญิงมีครรภ์ดื่มน้ำมะพร้าวจะช่วยให้เด็กแข็งแรง เพราะมีโปรตีน น้ำตาล คัลเซียม โซเดียม โปรตัสเซียมสูง
-  ช่อดอก  สามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลมะพร้าว ใช้ปรุงอาหาร ทำเนยเทียม สบู่ เทียน
-  ใยมะพร้าว  ใช้ทำพรมเช็ดเท้า ทำที่นอน

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะเฟือง

มะเฟือง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยคล้าย ใบมะยม ดอกช่อสั้น กลีบดอกสีขาวปนม่วง ผลมีลักษณะเป็นสันเหลี่ยม 3-4 สัน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกส้ม ในผลจะมีเมล็ดเล็กๆ อยู่ประมาณ 10-12 เมล็ด มะเฟืองเป็นพืชตระกูลเดียวกับ ตะลิงปลิง

ส่วนผสม

น้ำมะเฟือง
เนื้อมะเฟืองสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำเนื้อมะเฟืองใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก น้ำเชื่อม เกลือป่น ปั่นให้ละเอียด ชมรสตามชอบ จะได้น้ำมะเฟืองสีเหลืองอ่อนๆ ดื่มแล้วชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลมะเฟือง  .มีวิตามินเอ และวิตามินซี ฟอสฟอรัส คัลเซียม
-  .ใบและราก  ปรุงรับประทานเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข
-  ผล  ใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะไฟ

มะไฟ เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยวค่อนข้างใญ่ ดอกออกเป็นช่อยาวห้อยลง ผลกลม ผิวผลสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลืองส้ม มี 1-4 เมล็ดใน 1 ผล เนื้อผลมีสีชมพูหรือสีขาวนวล เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะยม

ส่วนผสม

น้ำมะไฟ
เนื้อมะไฟ 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำเนื้อมะไฟใส่ผ้าขาวบาง แล้วคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นก็เทน้ำต้มสุกใส่ลงไป กรองเอาเมล็ดทิ้ง เติมน้ำเชื่อม เกลือป่น ชิมรสดู จะได้น้ำมะไฟที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน ดื่มกับน้ำแข็งชื่นใจดี

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลสุก  มีวิตามินซี น้ำตาล กรดอินทรีย์
-  ราก  ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษร้อน
-  ผลอ่อน  ใช้ประกอบอาหาร แกงคั่ว เพราะจะให้รสเปรี้ยว

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะม่วง

มะม่วง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยว ใบมีลักษณะยาวรี ดอกมีลักษณะเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง ผลขนาดใหญ่ มีหลายขนาด และหลายพันธุ์ บางชนิดเปรี้ยว บางชนิดหวาน เป็นพืชตระกูลเดียวกับ มะปริง

ส่วนผสม

น้ำมะม่วง
เนื้อมะม่วง ดิบหรือสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

ถ้าใช ้มะม่วงดิบ ล้างให้สะอาด ปอกเปลือก เอาแต่เนื้อใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก ใส่น้ำเชื่อม ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด ชิมรสตามใจชอบ จะได้นำมะม่วงสีขาวขุ่น รสเปรี้ยวหวาน  ถ้าใช้ มะม่วงสุก ก็ทำขั้นตอนเดียวกับมะม่วงดิบ แต่ลดปริมาณน้ำเชื่อม เพราะมะม่วงสุกจะมีรสหวนอยู่แล้ว เติมน้ำเชื่อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลมะม่วง  มีวิตามินซี วิตามินเอ ฟอสฟอรัส คัลเซียม กรดอินทรีย์
-  เมล็ดในผลแก่จัด  แก้ท้องร่วง
-  เปลือก  ใช้ต้มรักษาอาการท้องเดิน
-  ใบมะม่วงอ่อน  ใช้เป็นผักจิ้มสด
-  ผลดิบ  ใช้ยำ จิ้มน้ำปลาหวาน ทำน้ำพริกมะม่วง ใช้ดอง แช่อิ่ม
-  ผลสุก  รับประทานเป็นของหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำแห้ว

แห้ว เป็นพืชใบเลียงเดี่ยว มีกาบใบขึ้นซ้อนๆ กัน มีหัวอยู่ใต้ดิน หัวแห้วนิยมนำมาทำเป็นขนม และน้ำแห้ว  แห้วให้สารอาหารพวกแคลเซียม เหล็ก และวิตามินซี  นอกจากนี้แห้วสดยังมีสารที่ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

ส่วนผสม

น้ำแห้ว
แห้วสด 20      หัว
น้ำ 2      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

ปอกเปลือกแห้วออก แล้วล้างให้สะอาด ตั้งน้ำให้เดือด ใส่แห้วลงไป ต้มให้สุก ใส่น้ำตาล คนจนน้ำตาลละลาย ตั้งพักไว้ให้เย็น รับประทานกับน้ำแข็งหรือนำเข้าแช่ตู้เย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  แห้ว  มีรสหวานเย็น มีสรรพคุณดับร้อน แก้กระหาย ช่วยย่อยอาหาร ละลายเสมหะ บำรุงร่างกาย เหามะสำหรับโรคร้อน เช่น คอแห้ง เจ็บคอ แผลร้อนใน แก้พิษสุรา ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำมะละกอ

มะละกอ เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ลำต้นสูงตรง ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก ก้านใบยาวกลวง ดอกตัวเมียมีสีขาวนวล ผลมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันแล้วแต่พันธุ์ บางพันธุ์มีเมล็ดมาก บ้างพันธุ์ไม่มีเมล็ด

ส่วนผสม

น้ำมะละกอ
เนื้อมะละกอสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือป่น 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

เลือกมะละกอสุก ปอกเปลือกเอาเมล็ดออก เอาแต่เนื้อหั่นเป็นชิ้นพอประมาณ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก ใส่น้ำเชื่อม ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด ชิมรสดูตามใจชอบ จะได้น้ำมะละกอข้น สีแดงส้ม เหลือง แล้วแต่พันธุ์

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลดิบ  มีสารเพกติน คัลเซียม วิตามินซี ใช้แกง ต้มจิ้ม ต้มกับหมู ทำส้มตำ
-  ผลสุก  มีวิตามินเอสูงมาก วิตามินซี เพกติน เหล็ก คัลเซียม  และนิยมรับประทานเป็นผลไม้ เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงธาตุ ใช้กวน และทำซอส
-  ราก  ต้มเป็นยาขับปัสสาวะ
-  ยางผลดิบ  เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน กันหูด

กลับขึ้นด้านบน

น้ำละมุด

ละมุด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเดี่ยว ดอกสีเหลือง ผลรูปไข่ ผิวผลสีน้ำตาล ผลดิบ มียางสีขาวรสฝาดแข็ง ผลสุกจะนิ่มหวานไม่มียาง มีเมล็ดรูปยาวรีสีดำฝังอยู่ในเนื้อ ผลละ 3-4 เมล็ด เป็นพืชตระกูลเดียวกับพิกุล

ส่วนผสม

น้ำละมุด
เนื้อละมุด 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำละมุดมาล้างให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นพอประมาณ แล้วใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก เติมน้ำเชื่อม เติมเกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้ละเอียด ชิมตามใจชอบ  ละมุดส่วนมากจะมีรสหวาน ใส่น้ำเชื่อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลสุก  มีน้ำตาลสูง วิตามินซี วิตามินเอ คัลเซียม ฟอสฟอรัส รับประทานเป็นผลไม้ ทำไวน์
-  เปลือก  ลำต้นต้มแก้บิด
-  ยาง  เป็นยาขับพยาธิอย่างดี
-  เมล็ด  เป็นยาบำรุง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำลำไย

ลำไย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านแตกเป็นทรงพุ่มสวยงาม ใบเป็นใบประกอบ ดอกช่อออกที่ปลายยอด ผลกลมใหญ่กว่าไข่นกกระทา เปลือกผลบางสีน้ำตาล เนื้อในขาวหรือสีชมพู มีเมล็ดกลม สีน้ำตาลแกมดำ ผลละ 1 เมล็ด เป็นพืชตระกูลเดียวกับลิ้นจี่ และเงาะ

ส่วนผสม

น้ำลำไย
ลำไยสดแกะเนื้อ 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/4      ถ้วยตวง

วิธีทำ

เลือกลำไยสด ปอกเปลือกแกะเอาเฉพาะเนื้อ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก เติมน้ำเชื่อม ชิมดูตามใจชอบ ปั่นให้ละเอียด น้ำลำไยสีขาว เติมน้ำแข็ง จะได้น้ำลำไยหวานหอมน่ารับประทาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ลำไย  มีวิตามินซี คัลเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีน น้ำตาล
-  เนื้อลำไย  เป็นยาบำรุงประสาทอ่อนๆ นอนไม่หลับ
-  เมล็ด  เป็นยาห้ามเลือด เนื่องจากมีรสฝาด
-  รากสด  ต้มใส่น้ำตาลกรวดดื่มแก้ช้ำใน
-  ลำไยตากแห้ง  เป็นการถนอมอาหาร และนำมาทำน้ำลำไยได้โดยวิธีต้มใส่น้ำตาล

กลับขึ้นด้านบน

น้ำลูกจาก

จาก เป็นพืชชายเลนชนิดหนึ่ง มีเหง้าใหญ่แข็งแรงอยู่ใต้ดิน ใบ เป็นใบประกอบ ใบงอกจากลำต้นใต้ดิน ก้านใบสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละดอกกัน ช่อดอกตัวผู้เป็นแท่งยาวเกือบ 1 เมตร  ผล จะเกาะกันเป็นกระจุกเบียดกันแน่น อยู่รอบแกนกลาง ผลเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อยังอ่อนเนื้อในมีสีขาว เมื่อสุกตรงกลางมีเนื้อนิ่มสีขาวใส มีรสหวาน เป็นพืชตระกูลหมาก มะพร้าว

ส่วนผสม

น้ำลูกจาก
ลูกจาก 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

เลือกผลลูกจากที่เนื้ออ่อนๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก แล้วเติมน้ำเชื่อม ปั่นให้เข้ากัน ชิมตามชอบ จะได้น้ำลูกจากสีขาว รสหอมหวาน ดื่มชื่นใจ

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ใบ  ใบมีรสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง  ใช้มุงหลังคา
-  ขี้เถ้าจากรากและใบ  ใช้ใส่แก้ปวดฟัน
-  ผลอ่อน  รับประทานเป็นผักเหนาะ
-  เนื้อในผลแก่  รับประทานสด เชื่อม
-  ก้านช่อดอก  ผลิตน้ำตาลได้

กลับขึ้นด้านบน

น้ำลูกตาล

ตาล เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ลำต้นใหญ่และกลมสูงมาก ใบเดี่ยว แผ่นใบกลมโต ใบและผลออกที่ปลายยอด ดอกตัวผู้เป็นแท่งยาวกลม ดอกตัวเมียเป็นช่อดอกย่อยเหมือนมะพร้าว ผลออกเป็นทะลาย หนึ่งทะลายมีประมาณ 5-10 ผล ผลอ่อนผิวสีเหลืองอมเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาลดำ ผลสุกมีกลิ่นหอมและจะร่วงจากต้นเอง ผลอ่อนใช้แกงเลียง ผลแก่ใช้เชื่อมหรือทำน้ำลูกตาล ผลสุกใช้ทำขนมตาล

ส่วนผสม

น้ำลูกตาล
เนื้อลูกตาล 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำเนื้อผลตาลอ่อน หั่นเป็นชิ้น ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก เติมน้ำเชื่อม ปั่นให้ละเอียด จะได้น้ำลูกตาลสีขาว มีกลิ่นหอมหวาน ใส่น้ำแข็ง หรือนำเข้าแช่เย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลตาลอ่อน  มีฟอสฟอรัส คัลเซียม วิตามินซี ใช้ทำแกงเลียง
-  งวงตาล  ใช้ต้มรักษาตานขโมยในเด็ก
-  ราก  ต้มแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ
-  ผลแก่  เชื่อม ทำน้ำลูกตาล
-  ผลสุก  ทำขนมตาล

กลับขึ้นด้านบน

น้ำรากบัว

บัว เป็นไม้น้ำ มีเหง้าใต้ดิน ลักษณะเป็นปล้องใหญ่และยาว มีสีขาวงาช้าง ถ้าตัดตามขวางจะเป็นเป็นรูกลม ก้านใบต่อตรงกลางใบ ก้านมีหนาม มีก้านดอกยาว ชูขึ้นเหนือน้ำ เมื่อแก่ก็จะกลายเป็นกรวยหรือฝักบัว มีเมล็ดบัวฝังอยู่ในฝักบัว ส่วนราก เมื่อแก่จะนำมาต้มหรือทำยา

ส่วนผสม

น้ำรากบัว
รากบัว 5-10      ราก
น้ำตาลทราย 1      ถ้วยตวง
น้ำ 2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำรากบัวมาล้างให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นบางๆ นำไปต้ม เคี่ยวจนน้ำเป็นสีชมพู เติมน้ำตาลทราย กรองเอากากออก รับประทานกับน้ำแข็ง

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ใบ  ใช้ต้มสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคควมดันโลหิตสูง
-  เกสร  เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท
-  ดอกสด  ต้มแก้อ่อนเพลีย
-  เมล็ดบัว  บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์
-  รากบัว  ต้มแก้ร้อนใน
-  ดีบัว  ช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
-  ทั้งต้น  ต้มแก้โรคพิษสุราเรื้อรัง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีใบหนา เรียงซ้อนกัน โคนใบกว้าง ปลายใบเรียว ริมใบมีหนาม ใบสีเขียวอ่อน มีกระ ใบแก่มีสีเข้ม ใบมียางสีเหลือง มีวุ้นและน้ำเมือก

ส่วนผสม

น้ำว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

เลือกใบว่านหางจระเข้ที่มีใบหนาและโตเต็มที่ ปอกเปลือก นำมาล้างให้สะอาด ให้หมดเมือกสีเหลือง หั่นเป็นชิ้นบางๆ ปั่นให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อม คนให้เข้ากัน รับประทานกับน้ำแข็ง

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ยางสีเหลือง  ใช้ทำยาดำ เป็นยาถ่าย
-  วุ้นและน้ำเมือก  ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้สมานแผล เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร
-  ก้านใบ  ใช้ทำน้ำดื่ม

กลับขึ้นด้านบน

น้ำอ้อย

อ้อย มีลำต้นกลม เป็นปล้องคล้ายต้นอ้อ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบสากและคาย ช่อดอกใบเป็นพู่ เปลือกหุ้มแข็ง ใช้ลำต้นรับประทาน ใช้เครื่องหีบน้ำอ้อยทำน้ำหวานรับประทาน และทำน้ำตาล

ส่วนผสม

น้ำอ้อย
อ้อย 4-5      ท่อน
เครื่องหีบอ้อย      

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  น้ำเชื่อม  ใช้ทำสารกันบูด และฆ่าเชื้อบัคเตรี
-  คุณประโยชน์อื่นๆ  ทำอ้อยควั่น เป็นน้ำดื่มแก้กระหาย ทำน้ำตาล รองหม้อต้มปลา เพื่อทำปลาต้มเค็ม

กลับขึ้นด้านบน

น้ำทับทิม

ทับทิม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีกิ่งก้านสาขามาก ใบมีลักษณะเล็กเรียว ดอกมีสีส้มแดง ออกผลกลม ผลดิบเนื้อในจะมีรสฝาดออกเปรี้ยว เมื่อสุกมีรสหวาน

ส่วนผสม

น้ำทับทิม
เนื้อทับทิมสุก (ทั้งเมล็ด) 1      ผล
น้ำเปล่า 2      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

แกะทับทิม เอาเฉพาะเนื้อ โดยนำเมล็ดทับทิมที่สุกไปโขลกเพื่อแยกเมล็ดกับเนื้อออก เสร็จแล้วใส่ลงในน้ำที่เตรียมไว้ แล้วกรองแยกเอากากที่เป็นเมล็ดออก  จากนั้นนำน้ำที่ได้ไปตั้งไฟ พอเดือดใส่น้ำตาล พอน้ำตาลละลายแล้วยกลง ตั้งพักไว้ให้เย็น รับประทานกับน้ำแข็งหรือนำเข้าตู้เย็น จะได้น้ำทับทิมรสอร่อย

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ผลทับทิม  มีน้ำตาลหลายชนิด
-  เปลือกหุ้มผล  แก้บิด ลำไส้อักเสบ ท้องร่วง ต่อมทอลซิลอักเสบ และแผลร้อนใน
-  เปลือกหุ้มราก  ขับพยาธิ นิ่ว
-  ใบอ่อน  แก้ตาอักเสบ
-  ดอกแห้ง  คั่ว รักษาโรคหูน้ำหนวก

กลับขึ้นด้านบน

น้ำสับปะรด

สับปะรด เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง มีหลายพันธุ์ มีทั้งที่มีรสหวานฉ่ำ รสเปรี้ยวและอมเปรี้ยวอมหวาน ใบมีลักษณะเป็นกาบยาว มีใยที่ใช้ทำสิ่งทอได้ ขอบใบมีหนาม ผลมีลักษณะเป็นหัว มีตาสับปะรดอยู่โดยรอบ เมื่อสุกมีสีเหลือง มีรสหวานฉ่ำชื่นใจ

ส่วนผสม

น้ำสับปะรด
สับปะรดหั่นเป็นชิ้น 1      ถ้วยตวง
น้ำสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

วิธีทำ

นำสับปะรดมาปอกเปลือก ใช้มีดเฉือนตาออกเป็นเส้นทแยงตามแนวของตาสับปะรด แล้วหั่นแกนกลางออก หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ปั่นให้ละเอียด นำมากรองแยกเอากากออก เติมน้ำเชื่อมและเกลือลงไปพอหวาน จะได้น้ำสับปะรดสีเหลือง เมื่อจะดื่มเติมน้ำแข็งลงไป ดับกระหาย คลายร้อน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  สับปะรด  มีวิตามินซี คัลเซียม ฟอสฟอรัส ดื่มดับกระหาย
-  น้ำสับปะรด  หมักกับเนื้อสัตว์เวลาทำอาหาร จะทำให้เนื้อเปื่อยเร็ว
-  สับปะรดสุก  นำมารับประทานสดๆ หรือจะนำไปทำเป็นแกงสับปะรด สับปะรดกวน ทำแยม หรือแช่อิ่มก็อร่อย

กลับขึ้นด้านบน

น้ำเม็ดบัว

บัว เป็นพืชน้ำ มีใบ ดอก โผล่ออกมาเหนือน้ำ ดอก เมื่อแก่เต็มที่จะกลายเป็นฝัก ฝักบัว เมื่อแก่จะมีเม็ดข้างใน สามารถรับประทานเป็นผลไม้ หรือนำไปทำเป็นขนม

ส่วนผสม

น้ำเม็ดบัว
เม็ดบัว (แกะเปลือก) 1      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง
น้ำสุก 2      ถ้วยตวง
วิธีทำ

นำเม็ดบัว มาล้างให้สะอาด ใส่หม้อ เติมน้ำให้ท่วม ต้มให้สุก ใส่น้ำตาล คนให้น้ำตาลละลาย ตั้งพักให้เย็น รับประทานกับน้ำแข็ง

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เม็ดบัวสด  มีสารอาหารจำพวกแป้ง โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และเกลือแร่
-  มีสรรพคุณบำรุงประสาท บำรุงไต รักษาอาการท้องร่วง โรคบิด และประจำเดือนมามากเกินไป

กลับขึ้นด้านบน

น้ำลิ้นจี่

ลิ้นจี่ เป็นไม้ยืนต้น มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน แต่ปัจจุบัน เราสามารถปลูกได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อสุกจะมีเปลือกสีแดง ผิวขรุขระ เนื้อรับประทานเป็นผลไม้

ส่วนผสม

น้ำลิ้นจี่
เนื้อลิ้นจี่ 1      ถ้วยตวง
น้ำสุก 2      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง
วิธีทำ

นำลิ้นจี่ มาปอกเปลือก แกะเอาเฉพาะเนื้อ นำน้ำใส่หม้อ ตั้งไฟให้เดือด ใส่น้ำตาลลงไป พอเดือดใส่เนื้อลิ้นจี่ลงไป ตั้งพักไว้ให้เย็น รับประทานกับน้ำแข็ง หรือนำเข้าแช่ตู้เย็นไว้รับประทาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ลิ้นจี่  มี น้ำตาลซูโครส น้ำตาลกลูโคส โปรตีน ไขมัน วิตามินซี และกรดซิตริก
-  เนื้อลิ้นจี่ มีฤทธิ์ช่วยย่อย บำรุงม้าม บำรุงประสาท แก้กระหาย
-  เมล็ด ใช้บรรเทาอาการปวด รักษาโรคไส้เลื่อน

กลับขึ้นด้านบน

น้ำส้มโอ

ส้มโอ เป็นไม้ยืนต้น เป็นผลไม้ที่มีเปลือกหนา เก็บได้นานกว่าส้มธรรมดา เนื้อส้มโอจะมีวิตามินซีสูง เป็นผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานแล้วชุ่มคอชื่นใจ ส้มโอเป็นพืชที่ออกผลได้ตลอดทั้งปี เนื้อ เปลือก และเมล็ดของผลส้มโอ ล้วนใช้ทำยาได้

ส่วนผสม

น้ำส้มโ
เนื้อส้มโอ 4      กลีบ
น้ำสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำส้มโอ มาปอกเปลือก แกะเมล็ดออกใส่เครื่องปั่น เติมน้ำและน้ำเชื่อม ปั่นให้ละเอียด รับประทานกับน้ำแข็ง หรือนำเข้าแช่ตู้เย็น หรือนำเนื้อส้มโอมาปั่นกับน้ำ แล้วกรองแยกกากออก ผสมน้ำเชื่อม รับประทานกับน้ำแข็ง หรือนำเข้าแช่ตู้เย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  เนื้อส้มโอ มีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ แก้ไอ บำรุงกระเพาะ ช่วยย่อย ลดอาการปอดบวม
-  ถ้าอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ ให้รับประทานทั้งกลีบประมาณ 3-4 กลีบ จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด

กลับขึ้นด้านบน

น้ำองุ่น

องุ่น เป็นไม้เถา ชอบเลื้อยตามร้าน ผลออกเป็นช่อ รับประทานเป็นผลไม้ มีรสหวาน เปรี้ยว เป็นผลไม้บำรุงร่างกาย นอกจากมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา

ส่วนผสม

น้ำองุ่น
องุ่น 1/2      กิโลกรัม
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำองุ่นมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาคั้น กรองเอาเฉพาะน้ำ แยกเอากากทิ้ง ใส่น้ำเชื่อม คนให้เข้ากัน รับประทานกับน้ำแข็ง หรือนำไปแช่เย็น

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  องุ่น มีน้ำตาลซูโครส และกลูโคส กรดซิตริก วิตามินซี เหล็ก และคัลเซียม
-  องุ่น มีสรรพคุณ บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ แก้กระหาย บำรุงกำลัง สำหรับคนที่ผอมแห้งแรงน้อย ถ้ารับประทานเป็นประจำ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

กลับขึ้นด้านบน

น้ำแอปเปิล

แอปเปิล เป็นผลไม้เมืองหนาว มีชนิดเปลือกผลสีแดง เปลือกผลสีเขียว แอปเปิลมีเกลือแร่และวิตามิน ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด

ส่วนผสม

น้ำแอปเปิล
แอปเปิล 2      ลูก
น้ำสุก 1      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

นำแอปเปิลมาปอกเปลือก เอาแกนกลางออก นำไปใส่เครื่องปั่น ตามด้วยน้ำสุก และน้ำเชื่อม ปั่นให้เข้ากัน รับประทานกับน้ำแข็ง หรือจะนำเข้าแช่ตู้เย็นเก็บไว้รับประทาน ถ้าไม่ต้องการเส้นใยให้เอาแอปเปิลปั่นกับน้ำ แล้วกรองเอากากออก ผสมกับน้ำเชื่อมรับประทาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  แอปเปิล เป็นผลไม้ที่มี วิตามินซีมาก มีสรรพคุณเป็นยาระบาย
-  แอปเปิล มีสารกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ จึงทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ปรับสมดุลการย่อยของอาหาร แก้โรคท้องร่วง ลดกรดในกระเพาะ บำรุงกระเพาะ ช่วยย่อย บำรุงกำลัง ขับร้อน และละลายเสมหะ

กลับขึ้นด้านบน

น้ำระกำ

ระกำ เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นกอขนาดใหญ่ ก้านใบมีลักษณะเป็นหนามแข็ง ผลมีสีส้มเป็นกระปุก เปลือกระกำมีหนามอยู่โดยรอบ เวลารับประทานแกะเปลือกออก เนื้อระกำมีรสเปรี้ยวหวานเล็กน้อย

ส่วนผสม

น้ำระกำ
ระกำ 5-6      ลูก
น้ำเปล่า 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ

ปอกเปลือกระกำออกให้หมด เติมน้ำใส่หม้อ ตั้งไฟ ใส่ระกำลงไปต้มจนเนื้อระกำเปื่อยนิ่ม แล้วเอาเม็ดออก จากนั้น นำเนื้อระกำไปต้มอีกครั้ง เติมน้ำเชื่อม ต้มต่อสักพัก จะได้น้ำระกำ รสหวานอมเปรี้ยว เวลาดื่มเติมน้ำแข็งลงไปช่วยดับกระหายคลายร้อน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร

-  ระกำ มีวิตามินซี ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
-  ผล ช่วยขับเสมหะและลดอาการไอ
-  เนื้อระกำ ขูดเนื้อเอาเม็ดออก นำมาทำน้ำพริกระกำ ก็อร่อย

กลับขึ้นด้านบน


จาก.....หนังสือ "น้ำดื่มสมุนไพร จาก พืชและผลไม้" โดย ดร.ธารธรรมแก้ว   เชื้อเมือง     สำนักพิมพ์ "กำแก้ว"