ชา.........................สมุนไพร

          ระแสความตื่นตัวในปัจจุบันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เรากินกับสุขภาพ ทำให้เกิดการฟื้นฟูโภชนศิลป์เก่า อันเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นแบบชาวบ้านขึ้นมาใหม่ เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นเครื่องปรุงโบราณที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่ามีคุณประโยชน์ไม่เพียงแต่งรสชาติให้อาหารเท่านั้น ยังเป็นยารักษาโรคและบำรุงสุขภาพอย่างดี กล่าวเฉพาะสำหรับสมุนไพร ได้เกิดความสนใจเป็นพิเศษในหมู่ชาวตะวันตกผู้รักสุขภาพที่หันมาใช้พืชผักที่เป็นสมุนไพรมาประกอบอาหาร แต่เรื่องนี้มิใช่ของใหม่สำหรับคนไทย เพราะอาหารไทยได้ใช้พืชผักสมุนไพรหลายๆชนิดเป็นเครื่องปรุงหลักอยู่ก่อนแล้ว
          นอกจากนำสมุนไพรมาประกอบอาหาร ฝรั่งยังพยายามส่งเสริม "ชาสมุนไพร" ให้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ทดแทนเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์จำพวกกาแฟและสุราเมรัย ในร้านขายสินค้าสุขภาพซึ่งทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ชาสมุนไพร (herbal tea) เป็นสินค้าสำคัญที่ขาดไม่ได้ โดยส่วนใหญ่สมุนไพรที่ขายดีจะมีให้เลือกทั้งในรูปยาเม็ดสำเร็จรูปและชาสมุนไพร (เป็นส่วนใบหรือดอกที่ป่นหยาบมาแล้ว) สำหรับนำไปชงกับน้ำดื่ม ดื่มร้อนๆ (infusion) กระแสความตื่นตัวทางสุขภาพของคนไทยก็ไม่น้อยหน้า ด้วยปรากฎมีการผลิตชาสมุนไพร หรือที่นิยมเรียกว่า "เครื่องดื่มสมุนไพร" ในรูปแบบต่างๆออกมาอย่างแพร่หลาย ผู้นำในการผลิดเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ ชุมชนสันติอโศก ต่อมากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรต่างๆ ก็ผลิตออกมาขายด้วย แม้แต่เลมอนฟาร์มก็ยังผลิตชาสมุนไพรขายกับเขาด้วยเหมือนกัน
ชาสมุนไพรในตะวันตก
          หนังสือว่าด้วยชาของฝรั่ง นอกจากพูดถึงชาทั่วไป (Camellia sinensis) ที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ก็มักเอ่ยถึง "ชาสมุนไพร" (herbal tea) โดยอ้างว่าชาวตะวันตกดื่มชาสมุนไพรนานมาแล้ว ก่อนจะมานิยมชาจีนและเริ่มต้นใช้คำว่า "tea" ซึ่งมีรากมาจากคำจีน "เต๊" (t'e) ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งนี้เรียกชาสมุนไพรว่า ทีเซน (tisane) มิใช่ herbal tea อย่างในปัจจุบัน เดิมทีในสมัยโบราณ ทีเซนหมายถึงน้ำข้าวบาร์เลย์(ต้ม)เท่านั้น แต่ต่อมาขยายความหมายไปครอบคลุมใบหรือดอกของสมุนไพรชนิดอื่นๆที่นำมาชงกับน้ำร้อน (infusion) ดื่มเป็นเครื่องดื่มหรือเพื่อเป็นยารักษาโรคง่ายๆด้วย
          ในตะวันตกสมัยโบราณ ภาพลักษณ์การดื่มชาสมุนไพรมักเกี่ยวข้องกับหญิงชราผู้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะซึ่งจิบสมุนไพรอยู่เป็นนิจ ชาสมุนไพรจึงเป็นยามากกว่าเครื่องดื่ม จวบจนกระทั่งในสมัยศตวรรษที่ 19 คนยุโรปจึงเริ่มหันมานิยมชาสมุนไพรเป็นเครื่องดื่มมากขึ้น แต่ก็จำกัดวงเฉพาะในหมู่คนจน คนชนบท ซึ่งยากจนเกินกว่าจะดื่มชาจริงๆ อันนำเข้ามาจากประเทศจีนและอินเดีย ชาสมุนไพรที่ดื่มกันแพร่หลายในชนบทส่วนใหญ่เป็นที่หาได้ง่ายๆทั่วไป ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาจีนเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากแต่ราคาก็แพงเกินกว่าฐานะของคนส่วนใหญ่ ชาสมุนไพรในฐานะเครื่องดื่มจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ในอเมริกาสมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อคราวประท้วงโยนชาทิ้งลงทะเลและบอยคอตไม่ดื่มชาที่นำเข้ามาจากอังกฤษ เพราะรัฐบาลอาณานิคมเก็บภาษีชาแพงมากเกินเหตุนั้น (ค.ศ.1773) ชาวอเมริกาหันไปดื่มกาแฟแทน แต่อีกหลายส่วนก็ใช้ชาสมุนไพรแทนชาจริงๆ ชาสมุนไพรที่นิยมแพร่หลายในช่วงนี้เรียกว่า "ชาอาณานิคม" ทำจากสะระแหน่ กานพลู ผิวมะนาว และดอกจันทน์เทศ นอกจากหอมหวนชวนดื่มแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหารอีกด้วย กานพลูนั้นนอกจากใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ยังนิยมนำมาทำเป็นชากานพลูตั้งแต่สมัยต้นศตวรรษที่ 16
          ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อถึง 20 ช่วงแรกความนิยมชาสมุนไพรลดถอยลงไปเรื่อยๆ แต่ในช่วงท้ายกลับฟื้นขึ้นมาใหม่พร้อมๆกับกระแสความตื่นตัวในด้านสุขภาพแบบองค์รวมหรือสุขภาพแนวธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการวิจัยสมัยใหม่ที่ออกมายืนยันสรรพคุณทางยาของสมุนไพรหลายๆตัวที่หมอยาใช้รักษามาแต่โบราณ อันที่จริงก็เป็นที่ทราบกันดีว่ากว่าร้อยละ 30 ของยาสมัยใหม่ที่หมอใช้รักษาโรคต่างๆในปัจจุบัน ตัวยาสำคัญสกัดจากสมุนไพร หรือไม่ก็เลียนแบบโครงสร้างทางเคมีของสมุนไพร เช่น แอสไพริน สกัดจากเปลือกต้นวิลโล วาเลียม สกัดจากรากต้นวาลีเรียน ควินิน สกัดจากเปลือกต้นซิงโคนา ยาเอบฟีดรีน (ephedrine) สกัดจากต้น Ma Huang ซึ่งคนจีนใช้รักษาหวัดและไข้หวัดมานานกว่า 5,000 ปีมาแล้ว
          แม้ความนิยมชาสมุนไพรในสมัยใหม่จะอยู่ในแวดวงกระแสสุขภาพแนวธรรมชาติ แต่คุณค่าของชาสมุนไพรในฐานะเครื่องดื่มก็มิได้ถอยลงแต่อย่างใด พึงสังเกตุว่า แต่ไหนแต่ไรมา สมุนไพรที่ฝรั่งนำมาชงเป็นชาดื่มส่วนใหญ่มักมีกลิ่นหอมหวนเป็นพิเศษ หอมไม่แพ้ชาจีนทีเดียว ถึงในปัจจุบันนี้ กลิ่นหอมก็ยังเป็นคุณสมบัติสำคัญของชาสมุนไพรอยู่
          ชาสมุนไพรที่ขายในตะวันตกมักเป็นสมุนไพรตากแห้งที่ซอยหยาบมาแล้ว เพื่อสะดวกต่อการนำไปชงหรือต้ม ใส่มาในบรรจุภัณฑ์อย่างดีชวนซื้อ สมุนไพรในรูปชาถุง (tea bag) มักไม่ใคร่นิยมกัน วิธีทำชาสมุนไพรมี 2 วิธีคือ หนึ่ง ชง หรือ แช่ (infusion) ในน้ำร้อนให้สารละลายออกมาเหมือนการชงชาทั่วไป วิธีนี้เหมาะกับสมุนไพรที่เป็นใบ ดอก หรือเมล็ด ซึ่งน้ำมันหอมระเหย (essential oil) อาจสูญเสียไปหากนำมาต้มกับน้ำ สอง ต้ม (decoction) คือเอาสมุนไพรต้มกับน้ำให้เดือดนานประมาณ 10-20 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำ วิธีนี้เหมาะกับสมุนไพรส่วนราก เปลือกแข็งและเมล็ด ชาสมุนไพรแบบฝรั่งส่วนใหญ่ปรุงโดยวิธีชง วิธีต้มจะใช้กับชาสมุนไพรบางชนิด โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว
ชาสมุนไพรของไทย
          ชาสมุนไพรหรือเครื่องดื่มสมุนไพรในบ้านเราเป็นปรากฎการณ์ในสังคมเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความตื่นตัวทางสุขภาพ แสวงหาทางเลือกใหม่ในการรักษาและดูแลสุขภาพที่ประชาชนมีบทบาทกำหนดด้วยตัวเองมากขึ้น มิใช่ต้องพึ่งพิงแพทย์อย่างเดียวเหมือนก่อน เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะชาสมุนไพรที่ขายกันอยู่ส่วนใหญ่เป็นแบบ "ชง" (infusion) ซึ่งมิใช่เป็นวิธีหลักในการปรุงยาสมุนไพรของไทยแต่โบราณ
          การปรุงยาสมุนไพรตามตำราเวชศึกษามีถึง 25 วิธี อาทิ ยาผงปั้นเป็นลูกกลอน ยาผงละลายน้ำกระสาย ยาต้ม ยาดอง ยาแช่ในเหล้าหรือแอลกอฮอล์เข้มข้น (ยาทิงเจอร์) ยาเผา ยาดม ยาเป่า ยาพอก ยาทา ยาประคบ ฯลฯ แต่ที่ทำกินกันในครัวเรือนมี 4 วิธีหลักเท่านั้น ได้แก่ ยาต้ม ยาดองเหล้า ยาลูกกลอน และยาชง อาจอนุมานได้ว่ายาต้มเป็นวิธีปรุงยาที่แพร่หลายที่สุด ยาชงซึ่งทำโดยนำสมุนไพรใส่แก้ว เติมน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่ายาต้ม แต่สกัดสารออกฤทธิ์ละลายน้ำได้ดี โดยทั่วไปเมื่อต้องการใช้สมุนไพรเป็นยา การต้มจึงมีประสิทธิผลมากกว่า คนไทยจึงนิยมยาต้มมากกว่ายาชง สมุนไพรส่วนใหญ่จึงเอามาต้มหรือปรุงด้วยวิธีการอื่นๆ มีเพียงส่วนน้อยที่นำมาชงดื่ม เช่น ชุมเห็ดเทศ ดอกคำฝอย มะขามแขก ตะไคร้ กระเจี๊ยบแดง หญ้าหนวดแมว มะตูม ขิง กระวาน กานพลู เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ชาสมุนไพรไทยที่กล่าวถึงข้างต้นคนไทยแต่ก่อนกินเป็น "ยาชง" มากกว่าเป็นเครื่องดื่ม แต่หากถามว่าชาสมุนไพรใดที่คนไทยคุ้นเคยเป็นเครื่องดื่ม คำตอบก็มักได้แก่ น้ำเก๊กฮวย น้ำใบบัวบก น้ำจับเลี้ยง ซึ่งเป็นชาสมุนไพรจีนเสียมากกว่า
          ชาสมุนไพรที่วางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าสุขภาพในขณะนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบ "ชาถุง" และ "ชาสำเร็จรูป" สมุนไพรที่บรรจุในรูปชาถุงเป็นสมุนไพรตากแห้งที่บดละเอียดมาแล้ว เพื่อให้สารออกฤทธิ์ละลายน้ำร้อนได้เร็ว ส่วนชาสมุนไพรสำเร็จรูปนั้น ทำโดยต้มสมุนไพรกับน้ำและน้ำตาลทรายแดง เคี่ยวจนงวดตกผลึกละเอียด เมื่อจะกินก็ชงน้ำละลายได้ทันที เครื่องดื่มสมุนไพรสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายในตลาดมี อาทิ มะตูม ขิง เก๊กฮวย บัวบก เห็ดหลินจือ หญ้าหนวดแมว กระเจี๊ยบ ฟ้าทลายโจร ด้วยกรรมวิธีที่อาศัยน้ำตาลในการตกผลึก ชาสมุนไพรสำเร็จรูปจึงมักมีรสหวานจัด ส่วนชาสมุนไพรที่ไม่แปรรูป (เช่น เป็นใบ เป็นดอก เป็นเมล็ด) ซึ่งต้องนำไปต้มหรือชงจริงๆมีผลิตออกมาจำหน่ายเพียงไม่กี่ชนิด
          ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดชาสมุนไพรของเราในขณะนี้ ต้องการตอบสนองชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก พยายามขยายตลาดโดยเน้นรูปแบบความสะดวกในการใช้เหมือนๆกับเครื่องดื่มชา และกาแฟทั่วๆไป ที่เน้นความสะดวกในการดื่มมากเสียจนศิลปะและสุนทรียภาพแห่งการดื่มชามีอันต้องเสื่อมทรามลงไป
          ชาสมุนไพรไม่จำเป็นต้องหาซื้อเสมอไป ภูมิอากาศบ้านเราปลูกสมุนไพรหลายอย่างเองได้ง่าย แถมยังเป็นพันธุ์ไม้ตบแต่งสวน ตบแต่งบ้านได้งดงาม หากไม่มีที่ จะปลูกในกระถางก็ยังได้ ชาสมุนไพรหลายอย่างทำจากสมุนไพรสดได้ อาทิ ชาสะระแหน่ ชาใบเตย ชาตะไคร้ ชาสมุนไพรสดบางชนิดหอมและแรงกว่าชาสมุนไพรแห้งด้วยซ้ำ นอกจากนั้น เมื่อมีสวนสมุนไพรหรือกระถางสมุนไพรแล้ว จะทำสมุนไพรตากแห้งเก็บไว้ดื่มนานๆ หรือแจกจ่ายพี่น้องเพื่อนฝูงก็ทำได้
วิถีการดื่มชาสมุนไพร
          มีเหตุผลอะไรที่เราน่าจะดื่มชาสมุนไพรบ้าง แรกสุดทีเดียว ชาสมุนไพรหลายๆชนิดสามารถเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติไม่แพ้ชา กาแฟ ซึ่งมีคาเฟอีน ดื่มมากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนั้น ชาสมุนไพรยังบำรุงสุขภาพ และช่วยรักษาอาการป่วยเล็กๆน้อยๆที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ โดยสรุป ชาสมุนไพรจึงควรถือเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนใหญ่มิใช่ดื่มเพื่อรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจง ชาสมุนไพรโดยทั่วไปจึงมิใช่ยาชง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บเฉพาะอย่าง จะดื่มชาสมุนไพรบางชนิดเป็นยาเสริมก็ไม่น่าจะเสียหายแต่อย่างใด
          นอกเหนือจากสรรพคุณในทางรักษาโรคแล้ว ชาสมุนไพรหลายอย่างยังอุดมด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ตัวอย่าง เช่น ชาเซจ (sage) มีเหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม และโปแตสเซียมสูงมาก ชาสะระแหน่มีโปแตสเซียมสูง แมกนีเซียม และแคลเซียมปานกลาง น่าเสียดายที่นักวิชาการไทยยังมิได้วิเคราะห์คุณค่าอาหารในชาสมุนไพรไทยออกมาให้รู้กัน
          ชาสมุนไพรถุงและชาสมุนไพรสำเร็จรูป แม้จะสะดวกดีสำหรับผู้ที่เร่งรีบเสมอ แต่ก็ทำให้สุนทรียภาพของการดื่มชาสูญเสียไปไม่น้อย ดื่มชาสมุนไพรถุงหรือชงชาสมุนไพรสำเร็จรูปในท่ามกลางชีวิตที่แข่งขันเร่งรีบเหมือนเดิม ก็เหมือนกับ "รักษาโรค ไม่รักษาคน" เพราะสุขภาพองค์รวมของคนยังขึ้นกับวิถีชีวิตเป็นอย่างสำคัญ คนอยากมีสุขภาพดี จึงต้องใช้ชีวิตให้ถูก ซึ่งทางหนึ่งก็คือ ให้เวลากับตัวเองบ้าง สำหรับการออกกำลังกาย อยู่กับครอบครัว และคบหากัลยาณมิตร ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมและใช้เวลาดื่มชาสมุนไพรอย่างมีสุนทรียภาพ
          ดื่มชาให้มีสุนทรียภาพต้องมีศิลปะ ซึ่งก็เหมือนกับศิลปะการดื่มชาของคนจีนอย่างไรอย่างนั้น ก่อนอื่นต้องพิถีพิถันในการชงชา ใช้น้ำสะอาด รินน้ำร้อนอุ่นป้านชารอบหนึ่งก่อนจะใส่สมุนไพร (1 ช้อนชาต่อน้ำชา 1 ถ้วย) และเทน้ำร้อนตามที่ต้องการ แช่ให้สารออกฤทธิ์ละลายน้ำออกมาสัก 4-5 นาทีก่อนจะรินน้ำชาสมุนไพรผ่านเครื่องกรองลงสู่ถ้วยชาที่อุ่นมาแล้ว เท่านี้ก็ได้น้ำชาสมุนไพรที่ชงอย่างมีศิลปะ ส่งกลิ่นหอมให้สูดดมไป จิบไปอย่างผ่อนคลายและมีศานติสุข
          หากสมุนไพรนั้นๆ ต้องใช้วิธีต้มจึงจะดึงสารออกฤทธิ์ให้ละลายออกมาได้ ก็ต้มสมุนไพรกับน้ำในหม้ออันปิดฝามิดชิด จะต้มพอเดือดหรือนานกว่านั้นก็ขึ้นกับประเภทของสมุนไพร แต่โดยทั่วไปสมุนไพรที่น้ำมันหอมระเหยละลายน้ำเร็ว จะต้มพอเดือดเท่านั้น ต้มนานไปกลิ่นก็จะอันตรธานไปหมด สมุนไพรยิ่งต้มนานสารออกฤทธิ์ก็ยิ่งละลายมาก น้ำชาก็ยิ่งเข้มข้นจนอาจถึงขั้นขม เสร็จแล้วจึงกรองเอาแต่น้ำไว้ดื่ม
          ชาสมุนไพรแบบไม่แปรรูปที่วางขายกันส่วนใหญ่จะบอกให้เอาไปต้ม แต่จริงๆแล้วก็สามารถนำไปชงได้ หากนำมาบดให้แหลกหรือซอยสักหน่อย เพื่อให้สารละลายน้ำร้อนได้มากและเร็วยิ่งขึ้น การชงมีข้อดีที่นอกจากสะดวกกว่าต้มแล้ว ชายังมีกลิ่นหอมของสมุนไพรเฉพาะตัว สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยที่ละลายน้ำได้ดีจะหอมด้วยวิธีการชงมากกว่าต้ม กลิ่นหอมของสมุนไพรหลายชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น กลิ่นหอมของชาขิงช่วยให้ปอดและลำไส้ใหญ่ทำงานดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นน้ำชาที่ได้จากการชงยังใส น่าดื่มกว่าแบบต้มอย่างเห็นได้ชัด
          ชาสมุนไพรนอกจากมีกลิ่นและรสของตัวเองแล้ว ยังอาจแต่งกลิ่นและรสเพิ่มได้อีก เช่น ใส่น้ำผึ้งแต่งรสหวาน ใส่มะนาวฝานแต่งกลิ่นและรส ใส่สะระแหน่ จันทน์เทศ อบเชย หรือใบเตยเพื่อแต่งกลิ่น
ดื่มชาสมุนไพรอะไรดี
          ปัจจุบันมีชาสมุนไพรกว่า 30 ชนิดที่วางจำหน่ายอยู่ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปชาถุงและชาสำเร็จรูป ชาสมุนไพรแบบไม่แปรรูปซึ่งต้องใช้วิธีชงหรือต้มมีเพียงไม่กี่ชนิด ชาสมุนไพรแบบชงหรือต้มที่มีกลิ่นหอมและรสดี อันเหมาะได้แก่การใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ อีกทั้งได้สุนทรียภาพจากการชงและดื่มชาสมุนไพรอย่างมีศิลปะ ได้แก่
          ชามะตูม เป็นชาสมุนไพรที่แพร่หลาย ทำได้ทั้งชงและต้ม ส่วนที่นำมาใช้คือผลที่ฝานเป็นแว่นตากหรืออบแห้ง ซึ่งเอามาต้มได้เลย แต่หากต้องการนำมาชง ควรบิออกเป็นชิ้นเล็กๆก่อน ชงในน้ำร้อนจัดประมาณ 5 นาที มีกลิ่นหอมเหมือนเปลือกไม้รมควัน วิธีชงให้กลิ่นหอมกว่าวิธีต้มบ้างนิดหน่อย แต่เข้มข้นน้อยกว่า แก้ท้องเสีย ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แกร้อนใน
          ชาตะไคร้ ชาสมุนไพรยอดนิยม ดื่มกันทั้งร้อนและเย็น ทำได้ทั้งต้มและชง น้ำชาสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ รสออกปร่าๆนิดหน่อย แต่กลิ่นหอมเย็นๆอย่างมะนาว ชาตะไคร้จะหอมมากหากปรุงด้วยวิธิชง แต่แทบไม่เหลือกลิ่นหากนำไปต้ม ตะไคร้มีน้ำมันหอมระเหย การต้มทำให้สูญเสียน้ำมันหอมระเหยไปกับไอน้ำมาก ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ
          ชากระเจี๊ยบ ต้มหรือชง น้ำชากระเจี๊ยบมีรสชาติไม่ต่างกันนัก เพียงแต่น้ำกระเจี๊ยบต้มจะเข้มข้นกว่า ชากระเจี๊ยบมีสีแดงใส กลิ่นหอมอมเปรี้ยว มีฤทธิ์แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาอาการขัดเบา นิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ ลดความดันโลหิต แก้ไอ
          ชาเก๊กฮวย ดอกที่ตากแห้ง เอามาต้มหรือชงก็ได้ ผลไม่ต่างกัน ชาดอกเก๊กฮวยมีกลิ่นหอมหวาน รสธรรมชาติ สีเหลืองใสอ่อนๆ นิยมดื่มทั้งร้อนและเย็นต่างน้ำชาจีน น้ำเก๊กฮวยบำรุงตับและสายตา บรรเทาอาการไขข้ออักเสบ ช่วยขับลมในลำไส้
          ชาว่านหางจระเข้ ใช้ส่วนใบและวุ้นตากแห้งมาต้มหรือชง ส่วนที่นำมาใช้คือใบและวุ้นจากใบ ตากแดดให้แห้ง ชาว่านหางจระเข้มีกลิ่นและรสชาติเหมือนกับชาสมุนไพรทั่วๆไป สีเหลืองใสอ่อนๆ รสจะออกขมนิดๆ หากใช้ใบและวุ้นปนกันมาก จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาระบาย
          ชาดอกคำฝอย ดอกแห้งเหมาะนำมาชงเป็นชา มีกลิ่นหอมและรสชาติเหมือนกับน้ำชาทั่วๆไป สีน้ำชาออกเป็นสีเหลืองปนส้ม ช่วยบำรุงประสาท บำรุงหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอล
          ชาใบหม่อน หน้าตาเหมือนใบชาจีน จึงเหมาะแก่การนำมาชงเป็นหลัก น้ำชาสีเขียวปนเหลือง รสฝาดนิดหน่อย ช่วยแก้ไข้ ระงับประสาท คลายกังวล
          ชากานพลู นิยมดื่มกันแต่ครั้งโบราณ เอาดอกตูมตากแห้งมาชงหรือต้มก็ได้ มีสีเหลืองปนน้ำตาล กลิ่นหอมเย็น รสเฝื่อนนิดๆ ช่วยแก้ท้องเสีย ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ดับกลิ่นปาก ลดการบีบตัวของลำไส้
          ชากิงโกะ หรือ ใบแปะก๊วย ต้มหรือชงก็ได้ หากจะชงก็ควรหั่นใบเป็นชิ้นฝอยก่อน มีกลิ่นหอมแบบชาทั่วไป รสออกขมปนฝาดเล็กน้อย ชากิงโกะเป็นของจีน หาซื้อได้แถวเยาวราช มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านช่วยการสูบฉีดโลหิตไปยังส่วนปลายประสาทให้ดีขึ้น บำรุงประสาท เหมาะสำหรับคนแก่ ช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
          ชารางจืด ใบตากแห้งนำมาต้มหรือชงเป็นชาสมุนไพร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ สีเหลืองอ่อนๆ รสขมแกมฝาดเล็กน้อย บางทีใส่ใบหนุมานประสานกายและใบเตยเข้าไปผสมด้วย ชารางจืดช่วยแก้ไข้ ถอนพิษ
          ชามิรานี ชัย เป็นชาสมุนไพรค็อกเทลที่นิยมดื่มในหมู่นักดื่มชาสมุนไพรในตะวันตก ใช้ส่วนผสมน้ำเปล่า 2 ถ้วย ขิงแก่สับ 2 ช้อนชา อบเชย 2 แท่ง พริกไทยเม็ดบุบ 3-4 เม็ด ลูกกระวาน 8-10 ลูก ต้มส่วนผสมทั้งหมดประมาณ 10 นาที แล้วใส่น้ำนมถั่วเหลือง 1/2ถ้วย ต้มต่ออีก 10 นาที จึงยกลง กรองเอาแต่น้ำใส่แก้วดื่ม โดยอาจแต่งรสชาติด้วยน้ำผึ้งและลูกจันทน์เทศป่น ชามิรานี ชัย มีกลิ่นหอมของอบเชยและน้ำนมถั่วเหลือง รสก็ดีมาก เผ็ดแบบขิงเล็กน้อย
          จะดื่มชาสมุนไพรอย่างมีสุนทรียภาพต้องมีฉันทะ เริ่มหาชาสมุนไพรไม่แปรรูปชนิดที่ปรารถนาใส่ขวดโหลน่ารักๆตั้งเด่นเป็นสง่าในครัวเสียแต่วันนี้ แล้วเริ่มชงชาอย่างมีศิลปะ จิบชาสมุนไพรเครื่องดื่มธรรมชาติอย่างมีสุทรียภาพ ศาสติสุขจะบังเกิด สุขภาพองค์รวมจะตามมา.
จาก นิตยสาร ครัว ปีที่ 5 ฉบับที่ 59 พฤษภาคม 2542