ผักเหลียง



          ในบรรดาผักเหนาะเกือบ 20 กว่าอย่างที่เบียดเสียดกันอยู่ในกระจาด มีอยู่ชนิดหนึ่งชื่อว่า "ผักเหลียง" (บางท้องถิ่นก็เรียก "ผักเหมียง" "ผักเขรียง")  ลักษณะใบเรียว ยาว  ผิวใบเป็นมันเลื่อม ดอกมีสีขาว รูปร่างเหมือนถ้วยตะไลเล็กๆ เรียงซ้อนกัน

          ผักเหลียงจัดเป็นผักพื้นบ้านประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีมากแถบจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์  โดยเฉพาะจังหวัดระนอง เขาถือเป็นผักประจำถิ่นเลย ถึงขนาดพูดกันว่า ถ้ามาระนองแล้วไม่ได้กินผักเหลียงแสดงว่ายังมาไม่ถึง   ว่ากันว่าถ้าจะกินผักเหลียงที่มีรสหวานอร่อยแล้วละก็ ต้องเป็นผักเหลียงที่ขึ้นในร่ม หรือไม่ก็ต้องหลังฤดูฝนไปแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ผักเหลียงเริ่มแตกใบใหม่  แหล่งดั้งเดิมของผักเหลียงขึ้นอยู่ตามป่าเขา ที่ราบ  บางครั้งก็เห็นขึ้นเคียงข้างกับต้นสะตอและต้นยาง

ผักเหลียง           ด้วยรสชาติที่ออกจืดๆ มันๆ ของผักเหลียง คนใต้จึงนิยมนำมากินสดเป็นผักเหนาะกับขนมจีน น้ำยาปักษ์ใต้  และนำไปประกอบอาหารต่างๆ   ลักษณะของผักเหลียงที่อร่อย คนใต้เขาแนะนำให้เลือกใบที่เป็นเพหลาด คือไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ใบจะออกรสหวานนิดๆ และนอกจากความอร่อยแล้ว ผักเหลียงยังมีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยป้องกันโรคตาฟางในตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสอีกด้วย

          อาหารยอดนิยมจากผักเหลียงที่ขึ้นชื่อของเมืองใต้คือ "ผักเหลียงต้มกะปิ" หรือที่รู้จักกันดีว่า "แกงเคย"  กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงต้มน้ำให้เดือด  ใส่กะปิ  หอมแดงบุบ  น้ำตาลทราย  พอเครื่องเดือดทั่วกันก็ใส่ผักเหลียงได้เลย ส่วนใหญ่ใส่กันทั้งใบ ไม่เด็ดก้านใบทิ้ง เพราะก้านทำให้น้ำแกงมีรสหวาน พอใส่ผักเหลียงแล้วยกลงได้เลย เคี่ยวนานไปผักจะสลดหมด  แกงหม้อนี้ใช้เกลือปรุงรสแทนน้ำปลา แต่อาจเสริมรสชาติความอร่อยด้วยการใส่กุ้งแห้งหรือกุ้งใหญ่ลงไปด้วย (กุ้งใหญ่ที่ว่านี้ก็คือกุ้งก้ามกรามนั่นเอง)  รสชาติเหมือนแกงเลียง ต่างกันตรงที่เครื่องแกงของแกงเลียงจะนำมาโขลกก่อน แล้วจึงใส่ลงในหม้อแกง แต่แกงผักเหลียงนี้ไม่ต้องนำเครื่องแกงไปโขลก

          นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำอาหารจานผัดที่แสนธรรมดา แต่รสชาติไม่ธรรมดาอย่าง "ผักเหลียงผัดไข่" วิธีทำจะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกหัวไชโป๊ผัดไข่  มะละกอสับผัดไข่ เพียงแต่เราเปลี่ยนเป็นใบเหลียงเท่านั้น รับประทานกันข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ  แม้แต่ห่อหมกของคนใต้ยังนิยมใช้ใบเหลียงมารองก้นกระทง นอกเหนือไปจากใบโหระพา ผักกาดขาว และใบยออีกด้วย หรือจะนำมาต้มกับกะทิเป็น "ผักเหลียงต้มกะทิ" ก็ได้

 

ผักเหลียงต้มกะทิ

เครื่องปรุง

ผักเหลียงต้มกะทิ
หัวกะทิ 1      ถ้วย (มะพร้าวขูด 500 กรัม)
ผักเหลียง (เอาแต่ใบอ่อน) 2      กำ
พริกไทย 9      เม็ด
หอมแดง 3      หัวเล็ก
กะปิดี 1      ช้อนชา
กุ้งแห้งชนิดจืด 2      ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1.  ล้างผักเหลียงให้สะอาด ผึ่งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2.  โขลกพริกไทยเม็ด หอมแดง กะปิดี กุ้งแห้ง รวมกันให้ละเอียด
3.  นำหัวกะทิขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟอ่อนๆ อย่าให้หัวกะทิแตกมันมาก ใส่เครื่องที่โขลกลงไปในหม้อหัวกะทิ เติมน้ำตาลทรายนิดหน่อย ใส่ผักเหลียงสักครู่ก็เอาขึ้น ยกลงเสิร์ฟ