ปลายี่สก
ปลายี่สก เป็นปลาน้ำจืดของไทยมาตั้งแต่โบราณ ต่อมามีปลายี่สกเทศที่นำเข้ามาจากอินเดีย แต่ปลายี่สกไทยมีเนื้อนุ่มหวานและอร่อยกว่า ในปัจจุบันนี้จัดเป็นปลาที่หายาก แต่ก่อนเป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปัจจุบันนี้หารับประทานได้ที่จังหวัดราชบุรี หรือจังหวัดกาญจนบุรี ปลายี่สกมีชื่อเรียกหลายชื่อแล้วแต่ว่าอาศัยอยู่ที่ใด เช่นที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย เรียกว่า "ปลาเอ็น" จังหวัดเลย เรียกว่า "ปลาชะเอิน" จังหวัดเชียงรายเรียก "ปลาเสือ"
ปลายี่สกอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน แต่ลำตัวยาวกว่า หัวโต มีหนวดสั้นอยู่ที่มุมปากบน 1 คู่ ปากเล็ก ลำตัวสีเหลือง ตาสีแดง ปลายครีบสีชมพู มีแถบดำ 7 แถบพาดตามยาวลำตัวตามรอยต่อของเกล็ด ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนตอนที่ปลายังเป็นๆ อยู่ มีก้างเล็กมาก แต่ตัวใหญ่ บางตัวมีน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัมเลยทีเดียว ปลายี่สกมีมากที่แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำแควน้อย น่านน้ำราชบุรี และน่านน้ำกาญจนบุรี
ปลายี่สกในน่านน้ำราชบุรีจะเรียกว่า "ปลายี่สกเหนือเขื่อน" ปลาที่อยู่ในน่านน้ำกาญจนบุรีเรียกว่า "ปลายี่สกใต้เขื่อน" ทั้งสองชนิดแตกต่างกันเล็กน้อย คือปลายี่สกเหนือเขื่อนจะออกสีขาวนวล มีเนื้อนุ่ม มีมันมาก รสหวานอร่อย ส่วนปลายี่สกใต้เขื่อนจะมีสีคล้ำ เนื้อแน่น ราคาแพง หายาก นิยมกินกันมากกว่า ต้องเลือกใช้ปลาสดๆ ในการทำอาหาร เนื้อจะนุ่มหวาน ไม่มีกลิ่นคาว ปรุงรสอ่อนๆ เพื่อให้ได้รสชาติความหวานของเนื้อปลา เช่น นำไปทำต้มยำ นึ่งจิ้มน้ำจิ้ม นึ่งมะนาว ทอดกระเทียม ผัดคึ่นฉ่าย นึ่งเกี้ยมบ๊วย เป็นต้น
เครื่องปรุง ปลายี่สกนึ่งเกี้ยมบ๊วย
![]()
ปลายี่สก น้ำหนัก 500 กรัม 1 ตัว ขิงอ่อนซอย 1 แง่ง คึ่นฉ่ายหั่นท่อน 3 ต้น พริกชี้ฟ้าแดงซอย 1 เม็ด น้ำซุป 1/2 ถ้วย
วิธีทำ
1. ยีบ๊วยให้ละเอียด ผสมกับน้ำซุป
2. ขอดเกล็ดปลา ผ่าท้อง ควักไส้ออก ล้างน้ำ แล่เอาแต่เนื้อ หั่นชิ้นใหญ่จัดใส่จาน
3. โรยขิงอ่อน คึ่นฉ่ายครึ่งหนึ่ง
4. ราดบ๊วยที่เตรียมไว้ นำไปนึ่งในน้ำเดือดไฟแรงนาน 8 นาที หรือจนปลาสุก
5. โรยด้วยพริกชี้ฟ้าแดง คึ่นฉ่ายที่เหลือ เสิร์ฟ